พบเด็กเล็กป่วยมือเท้าปากปี 61 พุ่ง 87%

ที่มา : ไทยโพสต์


พบเด็กเล็กป่วยมือเท้าปากปี 61 พุ่ง 87% thaihealth


แฟ้มภาพ


พบเด็กเล็กป่วยโรคมือ เท้า ปากปี 61 พุ่ง 87%  กรมควบคุมโรคเสนอให้สถานศึกษาคัดกรอง นร.ทุกเช้าก่อนเข้าเรียน เตือนถ้ามีไข้สูง ซึม  อาเจียน ส่งรพ.ทันที เสี่ยงเสียชีวิตติดไวรัสสายพันธุ์รุนแรง


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคและ ภัยสุขภาพในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่และหลายกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มวัยเรียน และกลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิลดลงอีกระลอก เริ่มมีรายงานพบการป่วยด้วยโรคติดต่อเป็นกลุ่มก้อนทั้งในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมักพบการติดเชื้อโรคในกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียนบ่อยครั้ง กรมควบคุมโรคจึงขอให้ครูและผู้ปกครองระมัดระวังโรคต่างๆ  โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปากในเด็ก เป็นพิเศษช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งจะติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง เชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จามรดกัน


อธิบดี คร. กล่าวต่อว่า โรคนี้พบได้มากในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการ เช่น  มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 7-10 วัน  โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ  ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา คร.พบว่าสถานการณ์ในปี 2561 นี้ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก 2,032 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ รองลงมา ภาคกลาง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีป่วยเป็นร้อยละ 87 ของผู้ป่วยทั้งหมด เด็กอายุ 1-2 ปีพบป่วยมากที่สุด การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล โดยครูและผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักการล้างมืออย่างถูกต้องจนเกิดเป็นทักษะป้องกันโรคระยะยาว 


"ในสถานศึกษาควรจัดให้มีจุดล้างมือพร้อมอุปกรณ์ เช่น สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์  พร้อมทั้งจัดคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียนเพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองมารับกลับและ  พักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ สำหรับผู้ปกครอง นอกจากสอนให้เด็กล้างมือเป็นแล้ว ควรส่งเสริมให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ พร้อมทั้งหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากมีอาการควรให้หยุดเรียนและพักรักษาตัวให้หายก่อน" นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว 

Shares:
QR Code :
QR Code