พบเชื้อ ‘มาลาเรีย’ สายพันธุ์ใหม่

พลาสโมเดียมโนวลิไซ ลิง สู่ คน

พบเชื้อ ‘มาลาเรีย’ สายพันธุ์ใหม่ 

          เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ศ.นพ.ดร.สมชาย จงวุฒิเวศย์ ภาควิชาปรสิตวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) พัฒนางานวิจัยเพื่อการรักษาโรค ที่สำนักงาน วช. ว่า จากการศึกษาและตรวจผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยพบเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ ชนิดที่ 5 ครั้งแรกของประเทศไทย คือ พลาสโมเดียมโนวลิไซ โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อที่พบในลิงแสมและมีลักษณะคล้ายกับเชื้อโรคตัวเก่า ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อการรักษาและควบคุมโรค

 

          จากการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดผู้ป่วยโรคมาลาเรีย จำนวน 5,325 ราย ระหว่างปี 2549 ถึง 2552 โดยวิธีตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อมาลาเรียด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอร์เรส พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 0.6 มีเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่แฝงอยู่ หรือผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 167 ราย จะพบการติดเชื้อมาลาเรียชนิดนี้ 1 ราย นอกจากนี้ การวินิจฉัยด้วยวิธีการดังกล่าวยังพบว่าผู้ป่วยที่อยู่ใกล้พรมแดนไทยและพม่า ร้อยละ 25 มีการติดเชื้อมาลาเรียมากกว่า 1 ชนิดในขณะที่ภาวะดังกล่าวพบเพียง ร้อยละ3 ถึง 5 ในกลุ่มผู้ป่วยมาลาเรียบริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชาและชายแดนไทยกับมาเลเซีย ทั้งนี้การที่ไม่สามารถวินิจฉัยภาวการณ์ติดเชื้อมาลาเรียต่างชนิดในผู้ป่วยอาจทำให้โรคแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้รวมทั้งทำให้เชื้อมาลาเรียมีการตอบสนองต่อยาต้านมาลาเรียและดื้อยามากขึ้นในอนาคต” ศ.นพ.ดร.สมชายกล่าว

 

          ศ.นพ.ดร.สมชายกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดที่ 5 หรือพลาสโมเดียมโนวลิไซ จำนวน 36 รายนั้น พบว่า มีการติดเชื้อชนิดเดียว 10 ราย และติดเชื้อร่วมกับเชื้อมาลาเรียชนิดอื่น 25 ราย ทั้งนี้ ช่วงอายุของผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวอยู่ระหว่าง4-59 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง2 เท่าและพบในทุกพื้นที่ทำการศึกษา โดยเฉพาะในจังหวัดตาก จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลาและนราธิวาส ดังนั้นการติดเชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม โนวลิไซ จึงมีโอกาสพบได้ทั่วไปในเขตปรากฏโรคมาลาเรียของประเทศไทย

 

          ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่จากการศึกษาผู้ป่วยจำนวนมากในเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซียพบว่าผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดเดียวกันนี้ บางรายเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตวายเฉียบพลัน การเสียสมดุลของเกลือแร่และความเป็นกรด-ด่างของเลือด รวมทั้งการอุดตันของหลอดเลือดขนาดเล็กในสมองจากเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ภายใน ทั้งนี้การติดเชื้อชนิดใหม่นี้ยังพบมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ศ.นพ.ดร.สมชายกล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update:11-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code