พบสูบบุหรี่เสี่ยงมะเร็งปอด 21 เท่า
สธ.เผย! หญิงไทยเสียชีวิตจากบุหรี่แล้ว 5,793 ราย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า คณะทำงานศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำการสำรวจการเสียชีวิตของหญิงไทยเมื่อปี 2547 พบว่ามีหญิงไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่สูงถึง 5,793 คน จากหญิงไทยที่สูบทั้งหมดกว่า 5 แสนคน โดยเป็นมะเร็งปอด 2,489 คน โรคถุงลมพอง 1,361 คน หญิงไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่แต่ละคนโดยเฉลี่ยมีอายุสั้นลง 11 ปี และป่วยหนักจนส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตยาวนานถึง 1.6 ปีก่อนเสียชีวิต จากความสูญเสียดังกล่าว จึงเรียกร้องให้หญิงไทยเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสเสียชีวิต และจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่วัยรุ่นที่ยังไม่ติดบุหรี่
ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า ไม่เพียงแต่ข้อมูลจากประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.สเตชี เคนฟิล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์รายงานวิจัยล่าสุดในวารสารการแพทย์ โดยติดตามความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่กับสาเหตุการเสียชีวิตของพยาบาล 104,519 คน ระหว่างปี 2523-2547 รวม 24 ปี พบว่าพยาบาลเสียชีวิต 12,483 คน จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าพยาบาลที่สูบบุหรี่มีอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเป็น 2.81 เท่าของพยาบาลที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ขณะที่พยาบาลที่เลิกสูบบุหรี่ได้จะมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 1.4 เท่าของพยาบาลที่ไม่สูบบุหรี่
เมื่อแยกแยะการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ พบว่าพยาบาลที่สูบบุหรี่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็น 3.3 เท่า โรคถุงลมปอดพอง 39.6 เท่า มะเร็งปอด 21 เท่า มะเร็งชนิดอื่นๆ 7.25 เท่า และเสียชีวิตจากสาเหตุโรคอื่นๆ 1.87 เท่า ของพยาบาลที่ไม่สูบบุหรี่ รายงานยังพบว่าในพยาบาลที่เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยอัตราการเสียชีวิตจะยิ่งสูง และพบว่าในปี 2540 มีหญิงอเมริกันเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 165,000 คน รวมหญิงอเมริกันที่เสียชีวิตทั้งหมด 3 ล้านกว่าคน ตั้งแต่ปี 2523 และหญิงอเมริกันที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มีอายุสั้นลง 14 ปีต่อคน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 09-07-51