พบผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีอื้อ สธ.คุมเข้ม
พบผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีอื้อ สธ.คุมเข้ม
แฟ้มภาพ
วันที่ 8 เมษายน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมผู้บริหาร สธ.และ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ผู้แทนจากสำนักงานโรคระบาดใน สัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties : OIE) ร่วมแถลงข่าวเปิดนิทรรศการเนื่องในวันอนามัยโลกประจำปี 2558 ตรงกับวันที่ 7 เมษายนทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลกขอให้ทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ทุกปีมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมี ปีละประมาณ 2 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 4 คน จากผลกระทบของอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ประเทศไทยจากการเฝ้าระวังความปลอดภัยผัก ผลไม้ ที่จำหน่ายในตลาดสดซุปเปอร์มาร์เก็ต และที่ด่านนำเข้าอาหารต่างประเทศ ล่าสุดในปี 2557 ตรวจรวม 60,000 กว่าตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยร้อยละ 7-9
กลุ่มผักสดที่ตกมาตรฐานสูงสุดได้แก่ ใบบัวบก ดอกหอม ผักแขนง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กลุ่มผลไม้ที่ตกมาตรฐาน
อันดับ 1 ได้แก่ สาลี่ แอบเปิ้ล ส้ม แตงโม แคนตาลูป ในกลุ่มนำเข้าผักที่ตกมาตรฐานสูงสุดได้แก่ บรอคโคลี่ พริกแห้ง ป๋วยเล๊ง ผลไม้ที่พบสูงสุดได้แก่ ส้ม แก้วมังกร และองุ่น จึงต้องเร่งดูแลความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายทั้งตลาดค้าส่ง ตลาดบน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวอีกว่า ในปี 2558 สธ.ออกมาตรการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย ทั้งการกำกับดูแลผักผลไม้ ก่อนออกสู่ตลาดภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมมาตรฐานผักผลไม้ที่บรรจุในภาชนะที่นิยมวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต อยู่ระหว่างจัดทำร่างพ.ร.บ.อาหาร ต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี
อีกทั้งจะจัดตั้งศูนย์ประเมินความเสี่ยงภัยสุขภาพจากสารเคมีภาคเกษตรระดับอาเซียนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย เพื่อตรวจหาสารเคมีภาคเกษตรตกค้างในผัก ผลไม้และจะตั้งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจผักผลไม้ที่ด่านระหว่างประเทศ
รวมทั้งจะจัดระบบเฝ้าระวังป้องกันอาหารที่จำหน่ายทั้งในและหน้าโรงเรียนการกำกับมาตรฐานร้านอาหาร และร้านอาหารแผงลอยข้างถนน เป็นเรื่องใกล้ชิดประชาชนมาก ได้มอบหมายให้กรมอนามัยเพิ่มการอบรมร้านอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟเป็นแรงงานต่างด้าว การจัดโครงการถนนอาหารปลอดภัย 12 สายนำร่องใน 12 จังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย 2558 คือตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ เลย เพชรบูรณ์ ลำปาง น่าน ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง เปิดตัวปลายเดือนเมษายน
ที่มา : มติชนออนไลน์