พบนวัตกรรมช่วยเด็กไทยพ้นผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่

กรมอนามัย-สสส. ค้นพบ 5 นวัตกรรมโภชนาการ ช่วยเด็กไทยพ้นภัยผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่ ชงเป็นนโยบายพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการเด็กวัยเรียนปี 55

นายสง่า ดามาพงษ์ นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาและการสำรวจโรงเรียนหลายแห่ง พบ 1 ใน 5 ของเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษากินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ โดยเด็กนักเรียน ร้อยละ 60 ไม่ได้กินอาหารเช้า, ร้อยละ 68 กินผัก และ ร้อยละ 55 กินผลไม้น้อยกว่า 1 ส่วนต่อวันตามลำดับ ขณะเดียวกันเด็กนักเรียน 1 ใน 3 กินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ และกินอาหารว่างที่ให้พลังงานเกินกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบเป็นประจำ และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบเพิ่มเป็น 2 เท่า

“จะเห็นได้ว่า เด็กไทยวัยเรียนมีพฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการที่ไม่พึงประสงค์จำนวนสูงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยผอม เตี้ย อ้วน และไอคิวต่ำ ด้วยเหตุนี้ โครงการโภชนาการสมวัยฯ จึงได้พัฒนานวัตกรรมทางอาหารและโภชนาการขึ้นมา 5 ชิ้น เพื่อใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการในเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษาให้พึงประสงค์ เพื่อเด็กจะได้มีโภชนาการสมวัยต่อไป” ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย  กล่าว

พบนวัตกรรมช่วยเด็กไทยพ้นผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่

นายสง่า กล่าวต่อว่า โครงการโภชนาการสมวัยฯ พัฒนารูปแบบสื่อและเครื่องมือการดำเนินงานโภชนาการในโรงเรียนนำร่อง 4 สังกัด คือ สพฐ. กทม. เทศบาล และเอกชน จำนวน 33 แห่ง ใช้เวลาในการพัฒนา 3 ปี จนเกิดนวัตกรรมโภชนาการสมวัย จำนวน 5 ชุด ดังนี้ ชุดที่ 1 ชุดเรียนรู้กลางเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยใช้เป็นคู่มือครูในการเรียนการสอนโภชนาการแบบมีส่วนร่วมจำนวน 4 เรื่อง คือ ธงโภชนาการ, ผักผลไม้, ลดหวาน มัน เค็ม และโรคอ้วน โดยบูรณาการทั้ง 4 เรื่องเข้าไว้ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ชุดที่ 2 คู่มือปฏิบัติการมาตรฐานอาหารในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ใช้เป็นแนวปฏิบัติการกำหนดและการให้บริการอาหารกลางวัน อาหารว่าง และเครื่องดื่มในโรงเรียนให้ได้มาตรฐานโภชนาการ ชุดที่ 3 โปรแกรมสำเร็จรูปอาหารกลางวันและการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตเพื่อให้โรงเรียนได้นำไปกำหนดชนิดและปริมาณอาหารที่จะนำมารปรุงประกอบอาหารกลางวันให้ได้กินครบคุณค่าทางโภชนาการตลอดจน บอกภาวะโภชนาการเด็กและแนวทางส่งเสริมป้องกันในโปรแกรมสำเร็จรูป ชุดที่ 4 คู่มือประเมินตนเองของโรงเรียนโภชนาการสมวัยใช้สำหรับโรงเรียนประเมินตนเองเพื่อหาจุดแข็ง-จุดอ่อนของโรงเรียนในการส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียน และชุดที่ 5 โปรแกรมประเมินตนเองด้านอาหารและโภชนาการนำเอาข้อมูลจากการประเมินตนเองป้อนเข้าโปรแกรมก็จะทำให้โรงเรียนได้รู้สถานการณ์โภชนาการของตนเอง

“นวัตกรรมโภชนาการสมวัยทั้ง 5 ชุด ได้นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง จนเกิดผลดีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหารและโภชนาการของเด็กวัยประถมศึกษาและมีการนำไปใช้ในการขยายสู่โรงเรียนอื่น ดังนั้นโครงการโภชนาการสมวัยจึงได้เปิดตัวนวัตกรรมโภชนาการสมวัย 5 ชุด และขยายพื้นที่การทดลองได้ในอีก 300 กว่าโรงเรียน ใน 9 จังหวัดนำร่อง โดยจะเริ่มทดลองใช้ในปีการศึกษาปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 – มีนาคม 2555 หลังจากนั้นจะนำผลการดำเนินงานมาถอดบทเรียนและสรุปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการเด็กวัยเรียนในกลางปี 2555 ต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายของชาติต่อไป” นายสง่า กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ