พบครอบครัวไทยสายใยห่างมากขึ้น

แนะใช้วันหยุดยาวสานสัมพันธ์ใกล้ชิด

 

 

        วันหยุดยาวๆ แบบนี้ไปไหนดี? คำถามแบบนี้เป็นคำถามที่มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดราชการที่ติดเสาร์อาทิตย์ต่อเนื่องไปถึงวันจันทร์ หรือจะเป็นวันเทศกาลสำคัญ อาทิ วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น เพราะวันหยุดยาวเหล่านี้ใครๆ ก็มักจะคิดที่จะไปเที่ยว แล้วครอบครัวของคุณหล่ะ ? อยู่ที่ไหน

 

 

 

         ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากจะนึกถึงการกลับไปหา ครอบครัว เมื่อมีวันหยุดสำคัญเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มักละเลย ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการห่างออกมาอยู่เพียงลำพัง ใช้ชีวิตในเมืองหลวง เป็นมนุษย์เงินเดือน เมื่อมีวันหยุดก็อยากใช้เวลาไปเที่ยวตอบสนองความต้องการของตนเอง แล้วลืมนึกที่จะกลับบ้านไปหาพ่อ แม่ คนที่เลี้ยงเรามา

 

        จากข้อมูลในการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษา 2553 รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอผลการศึกษา สถานการณ์ครอบครัวไทยพบว่าประชากรเพิ่มช้าลงมาก ในปี 2565 หรือ 12 ปี จากนี้ไป จะมีจำนวน 65 ล้านคน แต่หลังจากนั้นจะทรงตัวอยู่ แล้วลดลงช้าๆ ส่วนประชากรวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งเร็วขึ้นด้วย 

 

        นอกจากนี้จากการสำรวจผู้ปกครอง 1,066 ครอบครัวใน กทม. พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานวันละ 7-9 ชั่วโมง พ่อแม่ร้อยละ 43 รู้สึกห่างเหินกับลูก เนื่องจากในแต่ละวันมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกเพียง 1-3 ชั่วโมง ในแง่ของเด็กเองก็รู้สึกห่างเหินพ่อแม่มากขึ้นด้วย จากงานวิจัย Child Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) พบว่า ร้อยละ 40 ของเด็กมัธยมปลาย อาชีวะ และอุดมศึกษา ระบุว่า ตนไม่ได้ไปเที่ยวไหนกับพ่อแม่เลยในรอบ 1 เดือน

 

        ขณะที่ น.ส.ศริฏา กัลยาณชาติ ผู้อำนวยการโครงการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า จากการจัดทำโครงการ ร้อยเรื่องราวล้านเรื่องเล่า ที่ดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญา สำรวจบ้านที่มีคนฆ่าตัวตาย โดยเป็นการให้อาสาสมัครที่เป็นนิสิต นักศึกษาลงไปเยี่ยมบ้านและนำข้อมูลมาศึกษาพบว่า หลายครอบครัวเป็นลักษณะครอบครัวเชิงเดี่ยว ที่พ่อและแม่ต้องทำงานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเวลาอยู่ดูแลและใกล้ชิดกับลูก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่อยู่ในวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องห่างออกไปเพราะไม่มีเวลาที่จะได้พูดคุยกับลูก ทำให้เด็กหันไปติดเพื่อนและส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลที่อาจมีความผิดพลาดไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวไทยลดลง

 

         หลายครอบครัวที่ลูกฆ่าตัวตายเพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกพูด ด้วยความห่างไกลกัน หลายครั้งที่ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกพูดนั้นคือการร้องขอความช่วยเหลือ หรือขอความคิดเห็น พ่อแม่หลายคนมักจะมองว่าตนเองมีวุฒิภาวะมากกว่า มั่นใจในความคิดของตนเองมากกว่าความคิดของลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนตัวก่อปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง

 

        ผู้อำนวยการโครงการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวอีกว่า ดังนั้น หากครอบครัวมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เพียงสัปดาห์ละหนึ่งวันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะการมีกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวจะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวก็จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวันนั้น ควรหาโอกาสสร้างสานสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยพ่อแม่เองอาจจะเปลี่ยนบทบาทให้ลูกกลายเป็นผู้นำในครอบครัวแทน เช่น การคิดทริปการท่องเที่ยว การเลือกสถานที่ท่องเที่ยว เตรียมการเดินทาง หรือการเลือกอาหารที่จะทำหรือทานด้วยกัน เป็นต้น เพราะเมื่อลูกสวมบทบาทกลายเป็นผู้นำแล้ว จะช่วยสร้างความเข้าใจในตัวลูกเองได้ว่าบทบาทในลักษณะเดียวกันที่พ่อแม่เคยทำนั้นเป็นอย่างไร ขณะที่พ่อแม่เองก็จะมีความเข้าใจสถานะของการเป็นลูกมากขึ้นเมื่อต้องเป็นผู้รับฟังและทำตาม ซึ่งก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนบทบาทระหว่างพ่อแม่ลูกได้อย่างดี

 

        และเมื่อโอกาสวันหยุดยาวในเดือนธันวาคมนี้มีอยู่หลายวัน จึงถือเป็นโอกาสดีๆ ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสร้างสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้เกิดขึ้น อย่ามัวแต่คิดเที่ยวกับเพื่อน เที่ยวกับแฟน ลองหาวันหยุดที่มีอยู่กลับไปใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่บ้าง เชื่อได้ว่าคุณเองก็จะเข้าใจว่าคำว่า สานสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นอย่างไร

 

        หยุดยาวแบบนี้ อย่าปล่อยให้พ่อและแม่ต้องชะเง้อคอยลูกเก้อนะคะ!!

 

 

 

 

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

 

Update : 09-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code