พบคนกรุงส่อลอยแพผู้สูงอายุ

ผลวิจัยชี้ การพึ่งพาดูแลจากครอบครัวทำได้ยากขึ้น

 พบคนกรุงส่อลอยแพผู้สูงอายุ

          นักวิชาการเผยผลวิจัยผู้สูงอายุใน กทม.พบเกินครึ่งถูกลอยแพ กว่า 30,000 คนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แนวโน้มลูกหลานจ้างคนนอก หรือฝากสถานบริการรับดูแลเพิ่มสูงขึ้น ชี้ภาระค่าใช้จ่ายคนแก่เฉลี่ยตกปีละ 20,000 บาท เสนอรัฐเร่งสนับสนุนให้มีการประกันดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

 

          รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการเงินการคลังสำหรับการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาค ซึ่งสนับสนุนโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การวิจัยดังกล่าวเป็นการหยิบยกการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุในเขต กทม.มาวิเคราะห์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับความต้องการการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพา เพื่อหาแนวทางในการสนับสนุน ส่งเสริม รวมทั้งการกำกับดูแลผู้ดูแลและผู้สูงอายุตามบ้านและในสถานบริการหรือศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุในเขต กทม. นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อประมาณการด้านภาระทางการเงินการคลังที่ต้องแบกรับในระดับครัวเรือน

 

          รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า ได้สำรวจผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่กระจายอยู่ใน 50 เขต กทม.  จำนวน 1,297 ครัวเรือน มีผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,623 คน โดยผลการสำรวจจากจำนวนผู้สูงอายุ 600,000 คน พบว่า ร้อยละ 90 มีการพึ่งพาระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 5.4 มีระดับการพึ่งพามากหรือพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด โดยในกลุ่มหลังคิดเป็นจำนวน 32,641 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมดจำนวน 24,783 คน และผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากจำนวน 7,858 คน

 

          ผลการสำรวจชี้ว่า การพึ่งพาดูแลผู้สูงอายุจากครอบครัวทำได้ยากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาผู้ดูแลภายนอก และการดูแลจากสถานบริการหรือศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ จากการสำรวจผู้สูงอายุที่ใช้บริการดังกล่าวพบว่ากว่าร้อยละ 59 ใช้บริการ แบบเช้าไปเย็นกลับ ขณะที่ร้อยละ 95 ใช้บริการ แบบค้างคืน ขณะที่สถานบริการหรือศูนย์บริการ ส่วนใหญ่ให้บริการแบบค้างคืนร้อยละ 100

 

          อย่างไรก็ตาม พบว่า สถานบริการหรือศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุบางแห่ง มีเงื่อนไขไม่รับบริการผู้สูงอายุที่มีอาการทางจิตเวช เฉลี่ยร้อยละ 68-90 กลุ่มที่มีอาการหนักบางประเภท เช่น มีอาการเสี่ยงทางกายอย่างเฉียบพลันร้อยละ 19-50 และกลุ่มที่ต้องให้ออกซิเจนร้อยละ 14-18 ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างในการดูแลผู้สูงอายุในสถานบริการ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้ที่มีใบประกาศนียบัตร เฉลี่ย 8,275-10,633 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีประสบการณ์แต่ไม่มีใบประกาศนียบัตร เฉลี่ย 8,214-10,286 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ เฉลี่ย 8,033-9,180 บาทต่อเดือน

 

          รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า จากผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มผู้สูงอายุในเขตเมืองโดยเฉพาะ กทม. มีความต้องการบริการการดูแลจากภายนอกครอบครัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุระดับพึ่งพาไม่สูง แต่ต้องอยู่ตามลำพังพบร้อยละ 54  ส่วนผู้สูงอายุที่มีฐานะ จะจ้างผู้ดูแล หรือคนในครอบครัวคอยดูแลพบร้อยละ 41 ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีระดับการพึ่งพาสูงและมีคนในครอบครัวดูแลพบร้อยละ 4

 

          ในส่วนของการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ พบว่า ค่าใช้จ่ายรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20,100 บาทต่อคนต่อปี หากเป็นผู้สูงอายุที่มีระดับการพึ่งพาสูงและต้องจ้างคนนอกดูแลทั้งหมด จะสูงถึง 140,000 ต่อคนต่อปี

 

          ทั้งนี้การคาดการณ์ต้นทุนรวมในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวทั้งหมด 600,000 คน อยู่ที่ 12,933 ล้านบาทต่อคนต่อปี  ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายประจำด้านการดูแลสุขภาพหรือการดูแลชีวิตประจำวัน 8,614 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกของครัวเรือน ประมาณ 2,567 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลจากนอกครัวเรือน 783 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในสถานบริการแบบค้างคืนประมาณ 558 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์และกายอุปกรณ์ประมาณ 61 ล้านบาท และค่าซ่อมแซมบ้านเพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุประมาณ 348 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะรายการการซื้อบริการดูแลจากภายนอกครอบครัว (จ้างผู้ดูแลจากนอกครัวเรือนและใช้บริการสถานบริการแบบค้างคืน) รวมเป็น 1,341 ล้านบาท

 

          การเลือกใช้บริการจากผู้ดูแลภายนอกหรือสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ขึ้นอยู่กับรายได้และภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว และราคาของค่าบริการเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น คือ ค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัว ที่จำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ต้องลางานเพื่อมาดูแลเป็นครั้งคราว

 

          รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการประกันดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว รวมถึงการออกมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรสร้างกฎกติกาที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว ที่จะใช้บริการจากสถานบริการหรือศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการเพื่อกำหนดกติกาที่เป็นธรรม ขณะที่ กทม.ควรสร้างศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ ในพื้นที่ต่างๆ ให้ทั่วถึง พร้อมทั้งให้คำปรึกษากับผู้ดูแล เพื่อลดความเครียดจากการดูแลผู้สูงอายุ

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

update: 27-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ