พนันเป็นสิ่งเสพติด อย่าคิดริลอง

เรื่องโดย  อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานแถลงข่าว “พนันเป็นสิ่งเสพติด” วันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. 2566 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพ

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                  …การพนัน เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ยิ่งเล่นยิ่งติด ยิ่งกระตุ้นสมองส่วนกลางให้มีพฤติกรรมการอยาก หากเข้าไปเล่นบ่อย ๆ จะทำให้สมองส่วนกลางจดจำมากยิ่งขึ้นและส่งอำนาจเหนือสมองส่วนคิด จนขาดความยับยั้งชั่งใจ…

                 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ทีผ่านมา เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง คล้ายการติดสารเสพติด ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน รายงานว่า 1 ใน 5 ของผู้พนันในปี 2564 ประเมินตนเองว่า “ติดพนัน” คือ เล่นมาก เล่นบ่อย เล่นต่อเนื่อง เลิกไม่ได้ จนก่อให้เกิดปัญหา ในจำนวนนี้เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและเป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคน

                 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดงานแถลงข่าวรณรงค์ “พนันเป็นสิ่งเสพติด” เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก พร้อมเปิดตัวสปอตรณรงค์ “ครั้งแรกติดใจ ครั้งต่อไปติดพนัน” เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นว่าการพนันสามารถเสพติด ยากต่อการเลิก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นอีกด้วย

                 สอดรับกับ รายงานการสำรวจสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2564 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า 20.6% ของคนที่เล่นพนัน หรือประมาณ 6.668 ล้านคน ประเมินว่า “ตนเองติดการพนัน” และนอกจากนี้ ยังพบข้อมูลประเภทการพนันที่มีสัดส่วนผู้ติดการพนันเรียงจากมากสุดไปหาน้อยสุด ตามลำดับ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน บ่อนเปิดที่แหล่งที่ตั้ง พนันผลฟุตบอล หวยอื่น ๆ และบ่อนออนไลน์

                 จากข้อมูลสถิติของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า  ปัญหาติดการพนันในอันดับต้น ๆ ของคนไทย โดยผู้ติดการพนันมีความเสี่ยงจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน และยังพบว่าผู้ที่ติดการพนันมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2-5 เท่า

                 นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันในฐานะภาคีเครือข่าย สสส. เล่าให้ฟังว่า “องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง คล้ายการติดสารเสพติด โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน รายงานข้อมูลว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่ประเมินว่าตนติดพนันเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ มีกลุ่มเปราะบาง เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคน”

                 เคยสงสัยไหมว่า…ทำไมบางคนถึงชอบเล่นการพนัน ?

                 เพราะคนเรามีความคาดหวังและความต้องการที่ต่างกัน รวมถึงปัจจัยทางสังคมที่เป็นสิ่งจูงใจให้คนเล่นพนัน เช่น ต้องการเงิน ชอบเอาชนะ อยากจะเป็นที่หนึ่ง ชอบความท้าทาย…หรือแค่อยากลอง

                 การเล่นพนันจะไปกระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนการตอบสนองของรางวัล และทำให้สมองหลั่งสารที่มีชื่อว่า “โดปามีน” (dopamine) เป็นสารความสุขอย่างหนึ่ง ทำให้นักเล่นพนันทั้งหลายติดใจ

                 สอดคล้องกับข้อมูลที่นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “การพนัน เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ยิ่งเล่นยิ่งติด ยิ่งกระตุ้นสมองส่วนกลางให้มีพฤติกรรมการอยาก หากเข้าไปเล่นบ่อย ๆ จะทำให้สมองส่วนกลางจดจำมากยิ่งขึ้นและส่งอำนาจเหนือสมองส่วนคิด จนขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความลังเลที่จะเล่นการพนัน จนมาถึงจุดที่ไม่มีคำว่าพอ ถึงแม้ว่าจะหมดตัว สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือมันส่งผลกระทบต่อครอบครัว หน้าที่การงาน มีการกู้หนี้ยืมสิน หรือกลายเป็นคนลักขโมย เพียงเพราะต้องการเงินไปเล่นพนัน

                 “ที่บอกว่าการพนันคล้ายกับยาเสพติด เพราะผู้ที่ติดแล้วจะขาดการยับยั้งชั่งใจ โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเข้าวงจรพนัน คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะขาดความตระหนักรู้ ไม่ทราบถึงทันพิษภัยของพนัน ถึงแม้เด็กเสี่ยงติดง่ายกว่า แต่ก็รักษาได้ไวกว่าผู้ใหญ่ที่ติดพนัน ฉะนั้น ต้องป้องกันตั้งแต่ต้น ก่อนปล่อยให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ติดพนันขั้นรุนแรงได้ ฝากผู้ปกครองให้เข้าใจ และรับฟัง” นายแพทย์ยงยุทธ กล่าว

                 แล้วจะเล่นพนันโดยไม่เสพติดมันได้หรือไม่ ?

                 หลายคนน่าจะมีคำถามนี้ผุดขึ้นมาในใจ ให้ลองสังเกตผู้ที่ติดพนัน ทุกคนล้วนเริ่มต้นด้วยการเล่นพนันเพื่อความสนุก แค่อยากรู้อยากลองทั้งนั้น แต่เมื่อใดที่มันเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมปกติ เกิดการเล่นบ่อย ๆ ทุกวัน ย่อมมีโอกาสเสพติดเสมอ

                 ดังนั้น การแสดงออกในลักษณะปฏิเสธหรืออธิบายเหตุผลอย่างจริงจัง หรือหลีกเลี่ยงออกมาจากสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเล่นพนัน จึงเป็นสิ่งที่ป้องกันตัวเองให้พ้นจากการเล่นพนันดีที่สุด

                 สสส. สานพลังร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการพนันในสังคมไทย จึงรณรงค์สร้างความตื่นตัวให้สังคมรับรู้ว่าพนันเป็นสิ่งเสพติดได้ เสริมองค์ความรู้เท่าทันพิษภัยของพนัน ปกป้องเยาวชน และลดจำนวนนักพนันหน้าใหม่ เพื่อวางรากฐานในการสร้างสังคมสุขภาวะได้อย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code