ฝุ่นพิษยังคงหนาแน่น ห่วงนักเรียนได้รับผลกระทบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก


ฝุ่นพิษยังคงหนาแน่น ห่วงนักเรียนได้รับผลกระทบ  thaihealth


แฟ้มภาพ


กระทรวงสาธารณสุข เผยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ยังคงต้อง เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แนะ 5 มาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ สพฐ.กำชับ ผอ.โรงเรียนทุกแห่งดูแล หากเข้าขั้นวิกฤติสั่งปิดได้ 7 วัน


นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ในช่วงเวลานี้ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในทุกพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการภายใต้ 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ผ่านศูนย์อำนวยการ ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2.เฝ้าระวังการเจ็บป่วย ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง ระบบตา และอื่นๆ รวมทั้งผลกระทบในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง รวมถึงเฝ้าระวังและตอบโต้ข่าวที่เป็นเท็จ 3.สื่อสาร สร้างความรอบรู้ แก่ประชาชน 4. ดูแลสุขภาพและจัดระบบบริการสาธารณสุข โดยสนับสนุนหน้ากากอนามัย 4 แสนชิ้น และเปิดคลินิกมลพิษในพื้นที่เสี่ยงครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพ  5.มาตรการกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง


พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ออกประกาศเรื่องค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะ ฝุ่นละอองขนาด ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพได้ใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ สีฟ้า (0-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ เมตร) สีเขียว (26-38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สีเหลือง (38-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สีส้ม (51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ สีแดง (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป)


โดยหากพบค่าตั้งแต่ระดับสีเหลืองขึ้นไป กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากเฟซบุ๊กเพจ "คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5" ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง


นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่าได้กำชับผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งให้ดูแลเรื่องผล กระทบของฝุ่นที่มีต่อนักเรียน เนื่องจากจะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ประเมินสถานการณ์การเกิดฝุ่นอย่างใกล้ชิดโดยให้ยึดดูแลความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ หากพบโรงเรียนใดอยู่ในเขตพื้นที่วิกฤติไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถสั่งการให้หยุดการเรียนการสอนได้เป็นเวลา 7 วัน และให้หาเวลาสอนเพิ่มเติมให้นักเรียน เนื่องจากขณะนี้ใกล้เวลาที่นักเรียนจะเข้ารับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และสอบปลายภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2562

Shares:
QR Code :
QR Code