ผ้าไหมลายลูกแก้วของดีชาวศรีสะเกษ

          ในยุคที่เด็กๆ สนใจแฟชั่นตาม catwalk มาก กว่านุ่งผ้าทอพื้นบ้าน แต่ยังมีเยาวชนกลุ่มหนึ่งเห็นความสำคัญของการแต่งกายพื้นบ้านที่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน มาถึงรุ่นตน เห็นรุ่นแม่เลิกทอผ้า แต่กลับไปซื้อผ้าจากย่านอื่นมาใช้ เกิดคำถามในใจ "ทำไมบ้านเราไม่ทอผ้าใช้เอง"


ผ้าไหมลายลูกแก้วของดีชาวศรีสะเกษ thaihealth


          จากคำถามข้างต้น จึงเป็นที่มาและแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ราว 50 คนในชุมชนบ้านขี้นาค ชุมชนชาวกูยของตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ รวมตัวกันเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญา "การทอผ้าไหมลายลูกแก้ว" ของชาวกูย ซึ่งนับวันจะหายาก และจำกัดวงผู้รู้เฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่มีเหลืออยู่เพียง 5 คนสุดท้ายในชุมชน หนึ่งในนั้นเพิ่งวางมือจากฟืมทอผ้า เพราะสังขารที่ร่วงโรย


          ยายสำเนียง นาคนวล วัย 52 ปี 1 ใน 4 ครูภูมิปัญญาที่เรากล่าวถึง เล่าว่า ผ้าไหมลายลูกแก้วเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่ชุมชนบ้านขี้นาคมานานร่วมร้อยปี แต่เดิมชาวกูยทั้งหญิงชายจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดจากผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมสีดำจากมะเกลือ เพื่อร่วมงานบุญและงานเทศกาลต่างๆ ผู้เฒ่าผู้แก่หลายรายก็สวมใส่ผ้าไหมลายลูกแก้วเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ผ้าไหมลายลูกแก้วจึงอยู่ในวิถีชีวิตของคนบ้านขี้นาค และเป็นความภาคภูมิใจของผู้สวมใส่


          แต่ด้วยความที่ผ้าไหมลายลูกแก้วทอยาก และต้องใช้เวลาในการทอ ระยะหลังชาวชุมชนจึงหันไปสวมใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะซื้อหาง่าย ราคาถูก ไม่ต้องทอเอง หรือไม่ก็ซื้อผ้าไหมลายลูกแก้วจากหมู่บ้านอื่นมาตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วในชุมชนเลือนรางลง


          "เมื่อก่อนที่บ้านขี้นาค แต่ละบ้านจะทอผ้าไหมลายลูกแก้วไว้ใช้เอง แม่จะทอเผื่อไว้ให้ลูกสาวออกเรือน ไม่มีใครทอขายเพราะทอยาก และมีราคาแพง ผืนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท เวลามีงานชุมชน ส่วนมากก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีชุดผ้าไหมลายลูกแก้วอยู่แล้วที่ใส่มาร่วมงาน ส่วนเด็กๆ อย่างพวกเราได้เห็นมาตั้งแต่เล็กก็อยากใส่ แต่ไม่มีเป็นของตัวเอง เวลามีงานก็ต้องยืมของพ่อแม่มาใส่" น้องนุ่น ด.ญ.นิภาดา บุญท่วม หนึ่งในแกนนำเยาวชน สะท้อน


          การทำงานของเด็กๆ เริ่มจากการสืบค้นข้อมูลผ้าไหมลายลูกแก้วในด้านต่างๆ เพื่อทำความรู้จักผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้น ล่าสุดเด็กๆ ได้ข้อมูลที่ต้องการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เรียบเรียงเป็นเอกสารถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย เพื่อมอบคืนแก่ชุมชน ตลอดจนให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ ส่วนหนึ่งผ่านการจัดนิทรรศการความรู้ในชุมชน แกนนำและเด็กๆ บางคนยังได้หัดทอผ้าไหมลายลูกแก้วด้วยตัวเองโดยมีครูภูมิปัญญาคอยดูแล แม้จะไม่ทะมัดทะแมงคล่องแคล่วเหมือนคนรุ่นเก่า แต่เชื่อว่าด้วยความตั้งใจจริงนี้ ในระยะเวลาเพียงไม่นาน พวกเขาก็จะมีความชำนาญมากขึ้น และเด็กที่ทอผ้าไหมลายลูกแก้วเป็นในชุมชนบ้านขี้นาคก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย


          การทำกิจกรรมนี้จึงทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หลายอย่าง น้องนุ่นสะท้อนว่า รู้สึกดีใจและทำให้ตัวเองได้รู้จักผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้น จากหลายๆ เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งประวัติความเป็นมา การทำแผนที่เดินดินสำรวจครูภูมิปัญญาว่าอยู่ที่ไหน มีใครบ้าง ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร การย้อมผ้าด้วยมะเกลือต้องทำอย่างไร ต้องย้อมในฤดูกาลไหน รวมถึงการสวมใส่ในโอกาสต่างๆ มีอะไรบ้าง โดยได้ความภาคภูมิใจเป็นผลตอบแทน


          ส่วนแกนนำอีกคน น้องพิมพ์ น.ส.พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น เสริมว่า นอกเหนือจากความภาคภูมิใจ การมาทำกิจกรรมตรงนี้ยังทำให้ตัวเองใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่เอาแต่เล่นโซเชียลมีเดีย และได้ฝึกฝนทักษะการทำงานหลายอย่าง เช่น การวางแผน การแบ่งหน้าที่ การสืบค้นข้อมูล การเปิดใจรับฟังคนอื่น และการทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคี ที่สำคัญได้เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่เห็นความสำคัญของส่วนรวมมากขึ้น คือไม่สนใจแต่งานของตัวเอง ซึ่งจะทำให้งานของทีมไม่ประสบผลสำเร็จ


          การลุกขึ้นมาเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูยของเด็กๆ บ้านขี้นาค จึงเป็นตัวอย่างเยาวชนไทยที่มีสำนึกรักษ์บ้านเกิด ลุกขึ้นมาสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย โดยเป็น 1 ใน 11 โครงการเยาวชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ภายในจังหวัดศรีสะเกษให้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง (Active Citizen) ร่วมดูแลและสร้างสรรค์ท้องถิ่นของตนให้น่าอยู่


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code