ผ้ามัดย้อม วิถีโบราณสู่ทางปัจจุบัน

 

ผ้ามัดย้อม วิถีโบราณสู่ทางปัจจุบัน

 

เทศบาลตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีแหล่งเรียนรู้อีกแห่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนในชุมชน เรียกง่ายได้ใจความว่า ‘กลุ่มผ้ามัดย้อม’

กลุ่มผ้ามัดย้อมนั้นมีสมาชิกราว 20 คน โดยทั้งหมดได้ใช้แรงกายและใจแปรเปลี่ยนวัตถุเป็นผลผลิตที่ทำให้ชาวเกาะคาภูมิใจ มีทั้งเสื้อ กางเกง กระโปรง ชุดนอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมผม ซึ่งนอกจากขายให้กับผู้คนในชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งของฝากสำหรับผู้มาเที่ยวชม ตลอดจนศึกษาดูงาน

แก้วปวน ทิพย์เนตร ประธานกลุ่มผ้ามัดย้อม ซึ่งมีสมาชิก 20 คน เล่าว่า “นอกจากอาชีพเสริม เราต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยสร้างกลุ่มให้เข้มแข็ง เพราะที่นี่มีผู้พิการทางการได้ยินมาอยู่กับเราด้วย ซึ่งดีกว่าเป็นไหนๆ ถ้าปล่อยให้เขาต้องทนเหงาอย่างโดดเดี่ยว”

โดยกลุ่มนี้ใข้เวลาว่างจากการทำนามารวมกลุ่มกัน ส่วนในเรื่องขององค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการนำผ้ามาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งแปลก หรือเพิ่งจะค้นพบนวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด แต่ความรู้ ภูมิปัญญาดังกล่าว ได้ถูกค้นพบ ปฏิบัติ และถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกทั้งหลายก็ใช้ผ้าบังสุกุลสีขาว ที่ใช้สำหรับห่อศพมาซัก แล้วก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติเพื่อเป็นผ้าจีวรนุ่งห่ม

การทำผ้ามัดย้อมใช้เองเป็นความภาคภูมิใจของคนทำ และคนสวมใส่ด้วย เพราะผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นศิลปะหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน สีต่างๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ รากแก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ อาทิ

สีแดง ได้จากรากยอ แก่นฝาง เปลือกสมอ ครั่ง

สีคราม ได้จาก ต้นคราม

สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ต้นหม่อน ขมิ้น ดอกดาวเรือง

สีตองอ่อน ได้จาก เปลือกผลทับทิม ต้นคราม ใบหูกวาง เปลือกและผลสมอพิเภก ใบส้มป่อยและผงขมิ้น ใบแค ใบสับปะรดอ่อน

สีดำ ได้จาก ผลมะเกลือ ผลกระจาก ผลและเปลือกสมอ

สีส้ม ได้จาก เปลือกและรากยอ ดอกกรรณิการ์ (ส่วนที่เป็นหลอดสีส้ม)

สีเหลืองอมส้ม ได้จาก ดอกคำฝอย

สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า

สีชมพู ได้จาก ต้นฝาง

สีน้ำตาล ได้จาก เปลือกไม้โกงกาง เปลือกผลมังคุด

สีเขียว ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกสมอ

 

 

ที่มา : ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code