ผู้ใหญ่บ้าน ‘ผู้สร้างป่า’

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


ผู้ใหญ่บ้าน 'ผู้สร้างป่า' thaihealth


พื้นที่ป่าชายเลนและป่าชายหาดอันเขียวขจีสุดลูกหูลูกตาตัดกับสีครามของท้องฟ้าและผืนน้ำ มีเสียงของเกลียวคลื่นกระทบฝั่งเบาๆ เป็นซาวด์ประกอบ หากได้เปลญวณกับหนังสือสักเล่มก็คงเหมาะที่จะทิ้งเวลาทั้งบ่ายไปอย่างแช่มช้าที่ “อ่าวทุ่งนุ้ย” ชุมชนบ้านหลอมปืน อำเภอละงู จังหวัดสตูล


ที่นี่นอกจากจะมีบรรยากาศที่ดีต่อใจแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนแก่ผู้สนใจ และมีทรัพยากรใต้ทะเลทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ที่สร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านด้วย


แต่กว่าจะเป็นอ่าวทุ่งนุ้ยที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้ แทบไม่น่าเชื่อบริเวณนี้เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมที่พลิกฟื้นคืนมาจากกำลังของคนเพียง 2 คนคือ บังหลี-อารีย์ ติงหวังผู้ใหญ่บ้านบ้านหลอมปืนและภรรยาของเขา


“เมื่อก่อนที่นี่แทบจะไม่มีป่า” บังหลีชี้ออกไปนอกชายฝั่ง ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า ป่าค่อยๆ โดนตัดจนกระทั่งไม่เหลือ เขาและภรรยาที่หากินกับทะเลด้วยการเก็บหอยจับปลา เห็นว่าหากไม่มีป่า ปลา กุ้ง ปู ก็อาจจะไม่มีที่อาศัย และนับจากนั้นก็เริ่มต้นปลูกต้นไม้ต้นแรก


“ผมกับแฟนลงมือปลูกต้นไม้ที่อ่าวทุ่งนุ้ย ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่อยากปลูก อย่างสร้างป่า แฟนผมเขารักป่า อีกอย่างเราหากินกับทะเล เราก็อยากให้ทะเลเป็นที่หากินของคนรุ่นลูก รุ่นหลาน แต่ตอนนั้นถ้าจะชวนคืนอื่นมาปลูกเขาคงไม่เอาด้วย และถ้าจะชวนคนอื่นทำ ต้องทำให้เขาเห็นก่อน อีกอย่างแฟนผมชอบหาหอยด้วย แล้วป่าชายเลนก็เป็นแหล่งอาหารที่ดีกับหอย”


ผู้ใหญ่บ้าน 'ผู้สร้างป่า' thaihealth


บังหลีเล่าเรื่องราวก่อนอ่าวทุ่งนุ้ยจะอุดมสมบูรณ์อย่างอารมณ์ดี แต่กว่าจะหัวเราะได้เช่นนี้เขาต้องผ่านคำสบประมาท ทั้งจากนักวิชาการที่บอกว่าไม่มีทางทำสำเร็จ และชาวบ้านที่มองว่า เขาบ้า จนบางคนเรียกบังหลีเพี้ยนจาก “ผู้ใหญ่บ้าน” เป็น “ผู้ใหญ่บ้า” ทว่า บังหลีเลือกเมินเฉยต่อคำคน แล้วก้มหน้าก้มตาปลูกต่อไป กระทั่งโกงกางแตกยอดจนอยู่รอดถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนอื่นสนใจเข้ามาร่วม เกิดเป็นทีมดูแลและจัดการอ่าวทุ่งนุ้ย อาทิ สูบัย-นิด กมลเจริญ บังบ่าว-บ่าว สาหมีด และบังเจ๊ะดาหลา หวันตาหลงพร้อมกันนั้นก็เปลี่ยนให้ผู้ใหญ่บ้ากลายเป็นผู้ใหญ่บ้านโดยสมบูรณ์ด้วยการใช้การกระทำพิสูจน์คำพูดของตัวเอง


สูบัย ในฐานะเพื่อนสนิทบังหลีบอกว่า ตอนแรกเขาบอกจะปลูกป่า เราก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้อย่างไร พื้นที่ไม่ใช่น้อยๆ พอต่อมาเห็นเขาปลูกจริงๆ จัง ก็คิดว่าท่าทางจะเอาจริง ก็มาช่วยปลูกบ้างเป็นครั้งคราว


“ตอนนั้นป่าเริ่มเขียวขึ้นมาบ้างแล้วนะ พอป่าเขียวคนอื่นๆ ในหมู่บ้านก็ค่อยๆ ทยอยมาช่วยกัน แต่ก็มีเหตุเกิดสึนามิพัดเอาไปจนหมด คนอื่นๆ ก็เริ่มถอดใจ แต่บังหลียังคงตั้งหน้าตั้งตาปลูกต่อไป"


ระหว่างพัฒนาอ่าวทุ่งนุ้ยชุมชนประสบกับเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ทำให้การปลูกป่าหยุดชะงักลง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของบังหลีในการสร้างป่าชายเลนบริเวณอ่าวทุ่งนุ้ยยุติลงแต่อย่างใด หลังจากนั้นเขาเริ่มต้นปลูกอีกครั้ง จนประสบความสำเร็จ


จากนั้นไม่นาน คนในชุมชนก็มาช่วยกันดูแล แต่บังหลีก็ต้องพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจสลายอีกครั้ง เมื่อภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ซึ่งเสมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตได้จากไป นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้บังหลีทุ่มเทชีวิตและจิตวิญญาณปลูกต้นไม้หนักกว่าเดิม เพื่อทำตามความฝันภรรยาที่เคยบอกเขาไว้ในวันที่นั่งมองอ่าวทุ่งนุ้ยด้วยกันว่า


ผู้ใหญ่บ้าน 'ผู้สร้างป่า' thaihealth


“สำหรับผมแล้ว อ่าวทุ่งนุ้ยมันคือชีวิตและจิตใจ เพราะสถานที่แห่งนี้คือความฝันของเขา เขาฝันไว้ 3 เรื่องคือ 1.กลุ่มแปรรูปที่ทำงานวิจัยจะต้องขึ้นมาเป็นคู่แข่งของบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงอันดับต้นของประเทศให้ได้ 2.กลุ่มออมทรัพย์ต้องกลายเป็นธนาคารให้ได้เพื่อช่วยพี่น้องในชุมชน 3.อ่าวต้องเป็นป่าให้ได้ เพื่อจะได้กุ้งหอยปูปลาเพิ่ม พี่น้องในชุมชนจะได้ไว้หากิน เพราะเขาเป็นคนที่คิดทำอะไรก็เพื่อส่วนรวม แต่ทั้งหมดเรามีปัญญาทำได้อย่างเดียว นั่นคือ อ่าวทุ่งนุ้ย เราจึงพยายามทำเต็มที่ เผื่อวันหนึ่งจะตามไปบอกเขาได้ว่ามีเรื่องหนึ่งที่สำเร็จแล้ว”


วันคืนแห่งความคิดถึงถูกแปรเป็นพลัง บังหลีดูแลต้นไม้ทุกต้นด้วยหัวใจที่ไม่เคยย่อท้อ แต่แล้วความมุ่งมั่นตั้งใจก็ต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อป่าสมบูรณ์มีต้นไม้ขึ้นเขียวครึ้ม กลับกลายเป็นพื้นที่เอื้อต่อการมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น ทั้งการตั้งวงดื่มสุรา ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมไม่เหมาะสมระหว่างชายหญิง ซึ่งทั้งหมดล้วนผิดหลักของศาสนาอิสลาม


สูบัย หนึ่งในสมาชิกที่ร่วมดูแลอ่าวทุ่งนุ้ย และกรรมการมัสยิดของหมู่บ้าน เล่าอย่างติดตลกถึงเหตุการณ์ประกาศรวมคนไปเก็บขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการใช้คำเรียกว่า ‘กระดูกช้าง’ ‘กระดูกสิงห์’ “เราประกาศที่มัสยิดในวันศุกร์ตอนเย็นซึ่งเป็นเวลาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มักมาละหมาดว่า ‘พี่น้อง เดี๋ยวเราไปเก็บดูกช้างกัน’ ก็มีอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคท่านหนึ่งเดินมาถามว่า ‘ช้างมาจากไหนล่ะ ทำไมมาตายที่นี่’ เราเลยต้องอธิบายเขาว่าจะเก็บขวดเหล้าขวดเบียร์กัน”


ทีมจัดการอ่าวทุ่งนุ้ยขบคิดต่อถึงทางออกของปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการเก็บขยะ แต่ก็ไม่พบ กระทั่งพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลมาพูดคุยถึงโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ สนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ซึ่งชาวบ้านทุ่งนุ้ยก็เห็นโอกาสการพัฒนาพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์ และจัดการป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ปล่อยให้กลายเป็นแหล่งมั่วสุมแก่คนในและคนนอกชุมชน


ชาวบ้านหันมาสนใจป่าอีกรอบ คราวนี้ไม่ใช้เรื่องการดูแล หรือการเก็บรักษา แต่จะทำอย่างไรให้ป่าเป็นที่ที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ป่าของผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่ป่าที่เด็กๆ ใช้เป็นแหล่งมั่วสุม


ผู้ใหญ่บ้าน 'ผู้สร้างป่า' thaihealth


กระบวนการทบทวนถึงปัญหา ทำให้รู้ว่าปัญหาหลักๆ มีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก พ่อแม่ลูกไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เนื่องจากพ่อแม่ที่มีอาชีพประมงส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดก่อนลูกตื่น กลับบ้านอีกทีก็ดึกดื่น ครอบครัวแทบไม่ได้เจอหน้ากัน จนสายสัมพันธ์ไม่แน่นแฟ้น ลูกหันไปหาสิ่งอื่นทดแทน เช่น เล่นเกมส์ ติดยาเสพติด คบเพื่อนเกเร เรื่องที่สอง การใช้คนนอกชุมชนมาจัดกิจกรรม ทำให้เด็กไม่ผูกพันกับผู้ใหญ่ในชุมชน ส่วนผู้ใหญ่ก็เข้าไม่ถึงความต้องการของเด็ก ปัญหาที่มีจึงวนกลับมาเกิดซ้ำ ดังเช่นเหตุการณ์ต่อต้านและทำลายป้ายบริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย ทางออกในเวลานั้นก็คือการจัดค่าย แม้ในเบื้องต้นทุกคนมองว่าอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่หลังจากการพูดคุยถกเถียงผลก็ออกมาเป็น ‘ค่ายพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่’ โดยใช้พื้นที่ป่าของชุมชนเป็นสถานที่ในการจัดการเรียนรู้


ทั้งนี้ กิจกรรมในค่ายเน้นให้กลุ่มเยาวชนรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น ด้วยฐานกิจกรรมที่สนุก ท้าทาย และสร้างการเรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม สอดแทรกด้วยการให้ความรู้ของวิทยากรท้องถิ่น เช่น กิจกรรมการสำรวจชายหาดอ่าวทุ่งนุ้ย เพื่อศึกษาถึงทรัพยากรบริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย เรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้ต่างๆ จากนั้นพี่เลี้ยงจะให้แต่ละกลุ่มกลับมาสรุปงานใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ ทำอะไรมา แล้วเห็นอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เยาวชนบอกเล่าออกมาทำให้ผู้ใหญ่ได้สัมผัสถึงความรู้สึกในหัวใจของเด็ก เช่น ปัญหาขยะที่พบในบริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย การทำงานร่วมกันเป็นทีม ผลสำเร็จของค่ายทำให้ปัญหาแหล่งมั่วสุมเริ่มเบาบาง และฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับมาอีกครั้ง


บังหลีเล่าว่า "ด้านอ่าวทุ่งนุ้ยก็เริ่มมีคนเข้ามาเรียนรู้ทรัพยากรที่ฟื้นคืนมา ทั้งสัตว์น้ำ ป่าชายเลน และที่มากกว่านั้นคือได้รับเลือกจากวิทยาลัยการอาชีพละงูให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภาคบังคับของนักศึกษาสาขาการท่องเที่ยวที่ต้องมาเรียนรู้จึงจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้"


ถึงวันนี้แม้ว่าภารกิจของบังหลีเกือบจะเรียกได้ว่าสำเร็จลุล่วงอย่างน้อยก็คือการสร้างป่าชายเลนคืนความสมบูรณ์ให้อ่าวทุ่งนุ้ยตามความฝันของภรรยาที่จากไป แต่ปัญหากลับดูเหมือนจะไม่เคยห่างหายไปจากชุมชน แก้เรื่องเก่าไม่นานก็มีเรื่องใหม่ๆ มาให้ขบคิด


ใต้เงาไม้ที่เรียงรายเป็นแนวปะทะคลื่นลม ในสายตาของคนที่ผ่านร้อนหนาวมาค่อนชีวิต ดูเหมือนว่าภารกิจต่อไปของคนที่นี่นับจากนี้ ไม่ใช่แค่รักษาป่าที่สร้างไว้ แต่คงต้องใช้ป่าสร้างคน เพื่อให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

Shares:
QR Code :
QR Code