ผู้ใช้แรงงานร้อง รมว.อุตฯ คุมดื่ม-ขายสุราในโรงงาน
กลุ่มผู้ใช้แรงงานบุกร้องรมว.อุตสาหกรรม หนุนกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.คุมน้ำเมา ห้ามดื่ม ห้ามขาย ในโรงงานอุตสาหกรรม 24 ชั่วโมง หลังพบผลกระทบรอบด้าน ขาด-ลา มาสาย สุขภาพย่ำแย่ ชี้โรงงานปลอดเหล้าช่วยคนงานยกระดับคุณภาพชีวิต
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิฯ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จากเครือข่ายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิก เหล้า และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้สนับสนุนกฎหมายลูก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามสถานประกอบการขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งปรับมาตรฐานอุตสาหกรรม (iso) เพิ่มเงื่อนไขไม่ดื่มไม่ขาย
นายจะเด็จ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัยแรงงานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ และปัญหาที่พบในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ผลกระทบต่อการทำงานขาดลามาสาย ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ การเกิดอุบัติเหตุ พิการและเสียชีวิต ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม ขณะเดียวกันหากดูข้อมูลที่ทางมูลนิธิรวบรวมไว้ ในปีที่ผ่านมา ต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนงาน จำนวน 604 ราย อายุระหว่าง 16-45 ปี ชี้ให้เห็นว่า 39.2% มีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภค เป็นอันดับ 4 รองจากค่าใช้จ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าเบ็ดเตล็ดตามลำดับ
นอกจากนี้ คนงานเกือบ 100% รับรู้ว่าการดื่มส่งผลกระทบรอบด้านและก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และผลสำรวจยังระบุอีกว่า คนงานเกือบ 1 ใน 4 หรือ 24.4% ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเหล้ามากกว่า 1,000 บาท ซึ่งการดื่มสุรามีผลกระทบต่อการทำงาน คือ ไปทำงานในวันถัดไปไม่ไหว ทั้งนี้คนงานมากกว่า 60% บอกว่าสามารถหาซื้อมาดื่มได้โดยไม่จำกัดเวลา
นายจะเด็จ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทางภาคประชาชนได้เฝ้าระวังและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงต้องการผลักดันให้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เกิดการครอบคลุมเพื่อป้องกันปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
เครือข่ายฯ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำไปพิจารณา 3 ข้อ คือ 1.ในฐานะที่ท่านเป็นคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ขอให้ท่านสนับสนุนนโยบายที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวม ให้มีผลบังคับใช้ในรัฐบาลนี้ เช่น การจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา การควบคุมเหล้าปั่น รวมถึงการห้ามดื่มบนท้ายรถหรือท้ายกระบะ เป็นต้น
ข้อ 2.ขอให้ผลักดันนโยบายให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมเป็นเขตห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอาจกำหนดข้อยกเว้นต่างๆ ไว้ เช่นดื่มได้เฉพาะที่พักส่วนบุคคลเป็นต้น และ 3.ในระหว่างรอมาตรการห้ามขายห้ามดื่ม ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาเกณฑ์สำหรับการกำหนดมาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรม ในด้านต่างๆ โดยมีเงื่อนไขเชิงบวกจูงใจ ให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นเขตห้ามดื่มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขณะที่ นพ.วรรณรัตน์ กล่าวภายหลังรับข้อเสนอจากเครือข่ายว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และรับปากว่าจะผลักดันทั้ง 3 มาตรการที่เสนอมาอย่างเต็มที่ เพราะสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงที่ต้องการขับเคลื่อนให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นโรงงานสีเขียว และการส่งเสริมสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงไม่ให้มีการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และติดยาเสพติดภายในบริเวณโรงงานด้วย เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งคงต้องทำให้ควบคู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาฝีมือแรงงาน และยกระดับรายได้หรือค่าตอบแทนให้สูงขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ