ผู้หญิง-เด็ก ถูกกระทำความรุนแรง ทุก 15 นาที
ตะลึง! ปี 56 พบผู้หญิง-เด็ก ถูกกระทำความรุนแรง ทุกๆ 15 นาที เฉลี่ยวันละ 87 ราย
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าท์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศ ปี2556 ” โดย น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 56 จากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ พบว่า มีข่าวการกระทำความรุนแรงทางเพศทั้งหมด169 ข่าว โดยประเภทข่าวที่ครองแชมป์อันดับ 1 คือ ข่าวข่มขืนมากถึง 51.5% รองลงมา ข่าวอนาจาร17.1% ข่าวพยายามข่มขืน13.6% ข่าวรุมโทรม7.1% ข่าวพรากผู้เยาว์2.4% นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น ๆ คือการค้าประเวณี 3.6 % ข่าวชายกระทำต่อเพศชาย 4.7% มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทั้งสิ้น 223 ราย เสียชีวิต 29 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตจากการถูกข่มขืนถึง 22 ราย หรือ75% จังหวัดที่พบความรุนแรงมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ รองลงมาจ.ชลบุรี
น.ส.จรีย์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศ 37.7 % มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองลงมา มีปัญหาการควบคุมยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 24.5 % ต้องการชิงทรัพย์ 20.8 % สำหรับช่วงอายุผู้ที่ถูกกระทำ ได้แก่ 11-15 ปี 35.1 % รองลงมา16-20 ปี 22 %และ 26–30 ปี 10.1 % ที่น่าตกใจ คือผู้ถูกกระทำที่อายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิงวัยเพียง 1 ขวบ 9 เดือน ส่วนอายุผู้ถูกกระทำที่มากที่สุด คือ 85 ปี ซึ่งถูกกระทำในกรณีข่าวข่มขืน สำหรับผู้กระทำที่อายุน้อยสุด อายุเพียง 10 ปีกระทำในข่าวรุมโทรม และผู้กระทำที่อายุมากที่สุด อายุ 85 ปีกระทำอนาจารเด็ก ซึ่งพบความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ 47.5% เป็นคนแปลกหน้ามากที่สุด รองลงมา 41.8 % เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน 5.6 %เป็นคนในครอบครัว/เครือญาติ และ5.1%เป็นคนที่รู้จักผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สำหรับอาชีพผู้ถูกกระทำ พบว่า เป็นนักเรียน/นักศึกษามากที่สุด 59.2% รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กเล็ก 6.6%
“เรากำลังตกอยู่ในสังคมที่น่ากลัว ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทั้งทางร่างกายจิตใจ 1 ใน 3 มีอาการทางด้านจิตใจหนักถึงขั้นหวาดผวา ระแวง ซึมเศร้า จนต้องพบจิตแพทย์ อีกทั้งผู้กระทำมีการใช้อำนาจบังคับข่มขู่ละเมิดทางเพศ ทำให้ผู้ถูกกระทำขัดขืนต่อสู้จนถูกฆ่าเสียชีวิต หลายรายถูกทำร้ายร่างกายอาการสาหัส และไม่กล้าแจ้งความเอาผิด ซึ่งนอกจากผู้ถูกกระทำจะรู้สึกอายแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้อีก ” น.ส.จรีย์ กล่าว
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี 56 มีจำนวน 31,866 ราย เฉลี่ยวันละ 87 ราย หรือทุกๆ15 นาที จะมีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย1คน ซึ่งผู้ที่กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ และจากการให้บริการคำปรึกษาของมูลนิธิฯ พบว่า มีผู้ขอรับบริการ 261 รายในจำนวนนี้ประสบปัญหา 385 กรณี โดยจะมีระบบบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและด้านสังคมสงเคราะห์ ผู้กระทำความรุนแรงเป็นคนมีความรู้มีการศึกษา ส่วนใหญ่ไม่ควบคุมอารมณ์ แม้กฎหมายจะเปลี่ยนไปแต่ผู้กระทำก็ยังใช้อำนาจ เช่น ทำให้ผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะผู้กระทำเป็นเจ้าหนี้ หรือกรณีหญิง 17 ปีถูกเพื่อนในชั้นเรียนข่มขืนถ่ายคลิปข่มขู่ เด็ก7ขวบข่มขืนเด็ก7ขวบ และกรณีหญิงถูกข่มขืนขณะตั้งครรภ์
“ปัญหาที่พบคือ กระบวนการส่วนใหญ่ยังปกป้องผู้กระทำ หลายกรณีเอาผิดไม่ได้ คดีล่าช้า การให้ยอมความ ขณะเดียวกันศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือ OSCC ของบางหน่วยงานขาดการจัดระบบรองรับ โดยเฉพาะการช่วยเหลือดำเนินคดีและกระบวนการส่งต่อที่ยังขาดความคล่องตัว แม้มีนโยบายประกาศชัดเจน แต่ยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน และมีข้อจำกัด หรือแม้กระทั่งผู้เสียหายเข้าแจ้งความแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบางสถานีอ้างเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติให้รอไว้ก่อน ” น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์