ผู้หญิง ต้องรู้ 7 สาเหตุ มะเร็งเต้านม
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
สาวๆ รู้หรือไม่ โรคมะเร็งเต้านม อยู่ใกล้ตัว ผู้หญิง มากกว่าที่คิด ถือเป็นโรคร้ายอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิต ผู้หญิงจำนวนมากในแต่ละปี อย่างในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก
สถานการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมจากทั่วโลกในตอนนี้ พบว่า มีผู้หญิงป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า…มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลก 2,088,849 ล้านคน เสียชีวิตถึง 626,679 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มะเร็งเต้านม คือ เซลล์ของเต้านมที่มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ เหนือการควบคุมของร่างกาย และเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนใหญ่มักเกิดที่ภายในท่อน้ำนมของผู้หญิง และสามารถกระจายออกจากท่อน้ำนม ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และอวัยวะอื่นๆ ที่ไกลออกไป
7 สาเหตุ "มะเร็งเต้านม" เกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดสรุปแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายๆ อย่าง ประกอบกัน คือ
1. "ผู้หญิง" อายุมากขึ้น
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่ากลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่จะพบใน "ผู้หญิง" ที่มีอายุมากขึ้น (40-50 ปีขึ้นไป) มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านมที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติและเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก ก่อนอายุ 30 ปี
2.ฮอร์โมนเพศหญิง
ฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งเห็นได้จาก "ผู้หญิง" เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า และช่วงเวลาในการมีประจำเดือน โดยพบว่าผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย หรือหมดประจำเดือนช้า มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเกิดมะเร็งเต้านม เช่นมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
3. "ผู้หญิง" ที่ไม่เคยมีบุตร
ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร หรือตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย
4. "ผู้หญิง" ที่ใช้ยาฮอร์โมน
ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่า 5 ปี หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน หลังหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมให้มากขึ้น
5. "ผู้หญิง" ที่มีประวัติมะเร็ง
สำหรับผู้หญิงที่มีประวัติเคยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง มีโอกาสเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคมะเร็งที่เต้านมอีกข้างหนึ่ง หรือผู้ที่เคยตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านมบางชนิดมี โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้นรวมถึงประวัติครอบครัว พันธุกรรม มะเร็งเต้านมมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีน BRCA1, BRCA2 (บีอาร์ซีเอวัน, บีอาร์ซีเอทู)
6.ประวัติการฉายรังสี
ประวัติการได้รับการฉายรังสี โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับรังสีบริเวณหน้าอกเมื่ออายุยังน้อย
7. พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็ง
พฤติกรรมบางอย่างในการใช้ชีวิต ก็ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วนหลังหมดประจำเดือน น้ำหนักเกิน เหล่านี้ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น