ผู้หญิงในศิลปวัฒนธรรมและการเปลี่ยนผ่าน
ทุกวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันสตรีสากล ในปีนี้ มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2554 ภายใต้หัวข้อ “ผู้หญิงในศิลปวัฒนธรรมและการเปลี่ยนผ่าน” ทั้งนี้ภายในงานมีทั้งผู้เขียน ผู้กำกับ นักดนตรี นักกวี มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อสะท้อนบทบาทของผู้หญิง โดย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ในวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีถือเป็นวันสตรีสากล ที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาทอย่างแพร่หลายต่อการขับเคลื่อนสังคม ดังนั้นวันสตรีสากลจึงเป็นอีกวันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกคนได้แสดงความสามารถ ให้เห็นถึงความเท่าเทียมในสังคม แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม แม้หลายหน่วยงานจะให้ความสำคัญในการรณรงค์เพื่อลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แต่สถิติความรุนแรงที่ผ่านมาก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า จากการให้บริการคำปรึกษาของมูลนิธิเพื่อนหญิง ทั้งด้านนักสังคมสงเคราะห์ กฎหมาย และคดีความ ปี พ.ศ. 2552 มีผู้ขอคำปรึกษามากถึง 775 ราย แบ่งเป็น 1. ความรุนแรงในครอบครัว 668 ราย หรือร้อยละ 86 มากที่สุดคือเป็นกรณีสามีมีหญิงอื่น รองลงมาคือสามีไม่รับผิดชอบ โดยมีสุราเป็นปัจจัยกระตุ้น ร้อยละ 25 หรือ 64 ราย และ 2. ปัญหาความรุนแรงทางเพศ มี 83 ราย หรือร้อยละ 11 มากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 54 หรือ 45 ราย เป็นการข่มขืนกระทำชำเรา รองลงมากรณีพรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 10 หรือ 8 ราย และเป็นกรณีรุมโทรม ร้อยละ 9 หรือ 7 ราย โดยที่มีผู้กระทำมากที่สุด คือ 9 ราย มีข้อสังเกตว่า อายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งที่เป็นผู้ถูกกระทำและผู้กระทำมีมากขึ้นถึงร้อยละ 31 นอกจากนี้หากดูจากข่าวทางหนังสือพิมพ์ จะพบว่า ข่าวการละเมิดทางเพศ มีมากถึง 271 ข่าว โดยมีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 331 ราย ผู้กระทำ 485 รายส่วนใหญ่ โดนข่มขืน รุมโทรม อนาจาร อย่างไรก็ตาม หวังว่าในวันสตรีสากลนี้ คงเป็นวันที่จะสร้างมิติใหม่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในผู้หญิงและเด็กลดลง และผู้ชายคงจะเปลี่ยนค่านิยมให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น
ขณะที่ นายจักรกฤษ ศิลปะชัย ดีเจจากคลื่นเพลงประชาชนและ Yes เรดิโอ แสดงความคิดเห็นถึงบทบาทของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านบทเพลงว่า ในเนื้อหาของบทเพลงทำให้ผู้หญิงกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูด ต่างจากเพลงในยุคอดีตที่เวลาจะบอกรักต้องแอบซ่อนไม่กล้าบอกตามตรง ทั้งนี้ในเพลงของผู้หญิงที่กล้าแสดงออกก็มีหลายเพลง และเพลงเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องคู่ครอง ความรัก
นายจักรกฤษ กล่าวต่อว่า หากมองไปในเชิงศิลปวัฒนธรรมที่มองผู้หญิงไปในแง่มุมของการให้เกียรติ การเชิดชูผู้หญิง ก็ถือว่ามีหลายบทเพลงที่สะท้อนออกในแนวทางที่สร้างสรรค์ แนวเพลงที่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง เช่น เพลงความรัก ของ สุรชัย จันทิมาธร เพลงเต็มใจให้ ของศุ บุญเลี้ยง เพลงสองเราเท่าเทียม ของเรวัตร พุทธินันทน์ เพราะเนื้อหาเพลงชัดเจนว่าสื่อถึงการให้เกียรติผู้หญิง ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกมากขึ้น และเป็นเพลงที่งดงาม นอกจากเนื้อหาของเพลงจะให้เกียรติผู้หญิงแล้วยังสื่อถึงผู้ชายว่าความรักห้ามมีการครอบครอง แต่ต้องเต็มใจให้ อย่างไรก็ตามหากผู้ชายสามารถมองแง่มุมที่สะท้อนออกมาในเพลงได้ สังคมในปัจจุบันผู้หญิงคงไม่ต้องระวังตัวมากขนาดนี้ และคดีข่มขืนคงจะมีน้อยลง ปัญหาทำแท้งลดลง
ด้าน นายยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทประพันธ์โทรทัศน์ “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” ทางช่อง 3 กล่าวว่า การถ่ายทอดบทละครในปัจจุบันถือว่าเป็นการสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะละครถือเป็นตัวชี้นำสังคม และถ่ายทอดว่าคนในสังคมมีความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะตัวละครผู้หญิงก็ถือเป็นตัวสะท้อนสังคมที่กำลังเป็นอยู่ ซึ่งฉาก ตบตี ริษยาอาฆาต ช่วงชิง จะมีในละครทุกเรื่อง ส่วนละครน้ำดี ก็มีให้เห็น แต่ยังไม่ได้รับการถูกเผยแพร่เท่าที่ควร ดังนั้นในฐานะคนทำละคร ต้องจับจ้องความเป็นไปของโลกด้วยความเป็นกลาง
นายยิ่งยศ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วคนที่จะเข้ามาทำอาชีพของคนเขียนบทโทรทัศน์ จะต้องมีพื้นฐานและสามัญสำนึก ในการประกอบวิชาชีพ เพราะเราเขียนบทละครให้คนดูทั้งประเทศต้องนำเสนอในด้านบวกกับคนดู มีทางออกให้ผู้หญิงในตัวละคร และต้องให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือกไม่ใช่ฝ่ายถูกเลือก แต่การสร้างละครตอนนี้ผู้หญิงกลับยอมจำนนที่จะเป็นฝ่ายให้ถูกเลือก ซึ่งคนเขียนบทรุ่นใหม่ตอนนี้มักจะมีลีลาการเขียนบทที่หวือหวา เป็นที่น่าตื่นเต้น แต่เมื่อนำเสนอแล้วอาจพบว่ามีจุดที่บกพร่องดังนั้นการนำเสนอไม่ควรทำให้สังคมเข้าใจผิดหรือการที่ผู้เขียนยังบอกสังคมไม่หมด
“บางครั้งคนดูก็อันตรายเพราะชอบกำหนดทิศทางความเป็นไปของตัวละครจนทำให้ผู้จัดต้องทำตาม ซึ่งถือเป็นเรื่องทุนนิยมที่ห่อหุ้มอยู่ เพราะไม่มีใครอยากขัดใจคนดู และบางค่ายมีให้คนดูส่งเอสเอ็มเอสเข้ามาโหวต ว่าตอนจบอยากให้จบแบบไหน ถือเป็นช่องทางการหารายได้ การทำตามโจทย์ของผู้จัด หรือผู้กำกับต้องการ อาจทำให้การเขียนบทประพันธ์เปลี่ยนทิศทางได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องขององค์ประกอบ และมีผลมาจากทุนนิยม ที่ต้องการรองรับเรื่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว” นายยิ่งยศ กล่าว
นายยิ่งยศ ทิ้งท้ายว่า ในฐานะคนทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี การถูกนำเสนอตัวละครในบทบาทของผู้หญิงจะเห็นว่ามีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นจึงอยากฝากคำว่าศักดิ์ศรีถึงทุกคนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะค่านิยมตอนนี้จะไม่ค่อยรู้จักคำว่าศักดิ์ศรี เช่น ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีในความเท่าเทียม และผู้หญิงต้องคำนึงถึงคุณค่าตัวเองให้มาก ๆ.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์