‘ผู้สูงอายุ 5.0’ ทางเลือกอันทรงพลัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'ผู้สูงอายุ 5.0' ทางเลือกอันทรงพลัง ยุคไทยขาดแคลนแรงงาน
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ในปี 2564 และในปี 2574จะเป็นสังคมสูงอายุระดับ สุดยอด ซึ่งนอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมของประชากรในการก้าวเข้าสู่ช่วง สูงวัยแล้ว ภาคเอกชนที่มีความต้องการใช้แรงงานจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวพร้อมรับสถานการณ์การขาดคนวัยทำงานเช่นกัน ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่า บริษัทเอกชน เริ่มเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและมีการจ้างงานผู้สูงอายุต่อเนื่องแม้ถึงวัยเกษียณ
ในงานสัมมนา "Active and Productive Ageing: ความท้าทายที่ไทยต้องไปให้ถึง" จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ผลการศึกษาวิจัยภายใต้ "แผนการบริหารจัดการโครงการวิจัยท้าทายไทยกลุ่มเรื่อง Active and Productive Ageing" เพื่อนำมาขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยในการมุ่งสู่สังคมสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า
ผศ.ปวีณา ลี้ตระกูล รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า จากการที่ ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา เป็นหัวหน้าวิจัยร่วมกับคณะ เรื่อง "สถานการณ์ปัจจุบันของการจ้างงานต่อเนื่องในสถานประกอบการและทัศนคติของนายจ้างในภาคเอกชน" ภายใต้แผนงานบริหารจัดการโครงการวิจัย ท้าทายไทย กลุ่มเรื่อง Active and Productive Aging" โดยการส่งแบบสอบถามไปยังบริษัท (มหาชน) 95 แห่ง คิดเป็น 7.9% ของบริษัท (มหาชน) ทั้งหมดและบริษัทจำกัด 681 แห่ง คิดเป็น 4.5% ของบริษัทจำกัดทั้งหมด ซึ่งแยก ผลการศึกษาเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.สถานการณ์การจ้างงานผู้สูงอายุในบริษัท 2.มาตรการ ภาครัฐเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุและ 3.ความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับทำงานของผู้สูงอายุและการจ้างงานผู้สูงอายุ
ผลการศึกษา 1.ด้านสถานการณ์การจ้างงานผู้สูงอายุในบริษัท พบว่า ภาพรวม 49.5% กำลังขาดแคลนพนักงาน แยกเป็น 65.3 % ของบริษัทมหาชนและ 47.3 % ของบริษัทจำกัดกำลังมีปัญหาความขาดแคลนพนักงานและการแสวงหาบุคลากรเพื่อจ้างงานในบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดกลุ่มแรงงานฝีมือและทักษะ บริษัทมหาชน 83.9% ขาดแคลน ส่วนบริษัทจำกัด 75.5% และ 22% กำลังขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะต่ำด้วย
ซึ่งการบริหารจัดการการจ้างงานเพื่อแก้ปัญหานี้เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัททั้งสองกลุ่มมองว่าการจ้างงานผู้สูงอายุสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของบริษัทได้ วิธีการที่บริษัททั้ง 2 กลุ่มใช้มาก ได้แก่ จ้างพนักงานที่กำลังจะหมดสัญญาหรือจะเกษียณอายุต่อเนื่องออกไปอีกระยะหนึ่งโดยทำงานเต็มเวลา กรณีบริษัทมหาชน 60.6 % บริษัทจำกัด 25 % หรือ เจ้าพนักงานที่เคยทำงานแต่ออกจากงานไปแล้ว กลับเข้ามาทำงานใหม่ โดยทำงานเต็มเวลา กรณีบริษัทมหาชน 47.9 % บริษัทจำกัด 41.2% ส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุที่ไม่เคยทำงานในบริษัทมาก่อนให้มาทำงานในบริษัทยังมีไม่มากนัก
ในการจ้างงานพนักงานสูงอายุ กรณีบริษัทมหาชน จะจ้างมาเพื่อปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษา ผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ/ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ขณะที่บริษัทจำกัด จะจ้างเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความสามารถทางฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ/ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคหรือคนงานทั่วไป
โดยเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการคัดเลือกผู้สูงอายุมาทำงาน ได้แก่ประสบการณ์และความชำนาญ ความรู้และทักษะ และสุขภาพ บริษัททั้ง 2 กลุ่มคิดตรงกันว่าจุดแข็งสำคัญของพนักงานสูงอายุที่จ้าง คือ การมีความรู้และประสบการณ์ในงานที่ทำ และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ ส่วนจุดอ่อน คือ ปัญหาด้านสุขภาพกาย มีปัญหาในการใช้งานหรือล้าหลังด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอื่นๆ และประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานลดลง
2. ด้านมาตรการภาครัฐ ประมาณ 80% ของบริษัทมหาชนและบริษัทจำกัด มองว่ารัฐบาลควรจะมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนจ้างแรงงานสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านการสนับสนุนทางภาษีและมาตรการด้านการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล บริษัท ในสัดส่วนที่มากพอสมควรที่ยังไม่รู้จักมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุสามารถนำรายจ่ายหักภาษีและยังมีการใช้ประโยชน์น้อยมาก
และ 3.ความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับทำงานของผู้สูงอายุและการจ้างงานผู้สูงอายุ พบว่า บริษัททั้ง 2 กลุ่มมีทัศนคติและความคิดเห็นเชิงบวกต่อทั้งผู้สูงอายุและการจ้างงานผู้สูงอายุและให้น้ำหนักไปในทิศทางที่ว่าการจ้างงานผู้สูงอายุช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของบริษัทและประเทศโดยรวมได้ ขณะเดียวกันบริษัทไม่ว่าจะเป็นประเภทใด แสดงความกังวลอย่างชัดเจนในการจ้างงานผู้สูงอายุเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานและมองเป็นจุดอ่อน
ผศ.ปวีณา กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ถอดมาจากผลการศึกษา ประกอบด้วย 1.ภาคเอกชนมีความคาดหวังให้รัฐบาลมีบทบาท ทั้งในส่วนที่ส่งเสริมและเสริมพลังในด้านการจ้างงานผู้สูงอายุ และให้รัฐบาลเป็นตัวอย่าง ในการดำเนินการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ในภาคราชการ 2.รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้บริษัททราบ เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ผู้สูงอายุที่กำลังดำเนินการอยู่ คือมาตรการ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุนำรายจ่ายหักภาษีได้ ให้ กว้างขวางมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์
3. บทบาทของนายจ้างภาคเอกชนในด้านการเตรียมความพร้อมของลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นการดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพ การส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาทักษะด้านไอที ส่งผลให้ลูกจ้าง มีโอกาสได้รับการจ้างงานต่อเนื่องแม้มีอายุมากขึ้นและ 4.รัฐบาลควรส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในความหมายที่กว้างขึ้นกว่าที่จะดำเนินการอยู่ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจจะพิจารณาสนับสนุนทางภาษีอากร เผยแพร่ข้อมูลเชิดชูเกียรติภาคเอกชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินมาตรการส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพหรือมาตรการสร้างเสริมทุนมนุษย์ให้กับพนักงานของบริษัท
เพราะมาตรการนี้จะสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานของพนักงานเมื่อสูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมทักษะด้านไอทีและดิจิตอล การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับพนักงานในองค์กรตั้งแต่เนิ่นๆ จะสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานของพนักงานเมื่อสูงอายุในธุรกิจหลายประเภท
ด้าน ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากงานวิจัย ถือเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีฐานคิดจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยได้วิเคราะห์ให้เห็นข้อค้นพบเชิงประจักษ์จากงานวิจัยด้านนโยบาย และการทำงานในระดับพื้นที่ ทำให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายที่มีความครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
"ในส่วนของ สสส. สามารถนำข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพและสังคมไปใช้ในการวางแผนการสนับสนุนโครงการ เพื่อหนุนเสริมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ตามพันธกิจ สสส. รวมถึงร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อนำข้อ ค้นพบและข้อเสนแนะเชิงนโยบายไปขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ เช่น พัฒนาเครื่องมือ ชุดความรู้เพื่อสร้างความตระหนักและเกิดการ เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เป็นต้น" ภรณีกล่าว
แม้ภาครัฐจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น แต่บริษัทต่างๆยังมีการรับรู้และใช้ประโยชน์ทางภาษีค่อนข้างน้อย กอรปกับปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาจ้างงานผู้สูงวัย นี่จึงยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยในการแก้ปัญหา