ผู้ป่วยเบาหวาน-ผู้สูงอายุ เสี่ยงป่วยวัณโรค

วัณโรคยังคงเป็นปัญหาแพร่ระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน ล่าสุดพบผู้ป่วยเบาหวาน และผู้สูงอายุ เสี่ยงเป็นโรควัณโรคเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำกว่าบุคคลทั่วไป

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมสัมมนาวิชาการวัณโรคและโรคระบบทางเดินหายใจ ครั้งที่ 9 จัดโดย สธ.ร่วมกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาแพร่ระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน องค์การอนามัยโลก (who) จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคในระดับรุนแรง คาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายเก่าและใหม่รวมกว่า 110,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 86,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 9,800 ราย ประการสำคัญที่สุดต้องเร่งจัดการปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาสิ้นเปลืองกว่าเชื้อวัณโรคทั่วไป 50 – 100 เท่า who ประมาณการณ์ว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานและรุนแรงประมาณ 2,000 ราย และอาจแพร่เชื้อชนิดนี้ไปสู่คนอื่นได้อีก

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในการแก้ปัญหา สธ.ได้ร่วมมือกับสมาคมปราบวัณโรคฯ โดยให้ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำรวจและค้นหาผู้ป่วยจากกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ตั้งเป้าค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็ว และให้การรักษาให้หายขาดทุกรายไม่ให้มีปัญหาผู้ป่วยขาดยา ซึ่งจะลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาและลดการเสียชีวิตให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5 แต่จากจากการติดตามพบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคง่ายในอดีต เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสุรา โรคหอบหืด ผู้ที่อยู่ในชุมชนอัด มีระบบการค้นหาและสามารถควบคุมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เรื่องที่ต้องเพิ่มความสนใจเป็นพิเศษอีก 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์ทั่วโลกว่ากำลังมีแนวโน้มจะเป็นคู่หูของเชื้อวัณโรคด้วย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ

“ขณะนี้ไทยมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานมากประมาณ 3 ล้านคน จากการขาดการออกกำลังกายและการกินอาหารที่ไม่สมดุล ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 9.5 ล้านคน จึงได้ให้โรงพยาบาลที่มีคลินิกโรคเบาหวานและคลินิกผู้สูงอายุเพิ่มระบบการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อวัณโรคด้วย หากพบให้รักษาฟรีจนหายขาด นอกจากนี้ ให้ทุกจังหวัดจัดระบบประกันสุขภาพให้ต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานหรือติดตามครอบครัวทุกคน จะได้รับการตรวจหาวัณโรคและให้การรักษาจนหายขาด เพื่อเตรียมมาตรการของไทยพร้อมก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีต่างด้าวเข้าไทยมากขึ้น” ปลัด สธ. กล่าว

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สัญญาณอาการของผู้ป่วยวัณโรคที่โดดเด่น สังเกตง่ายๆ คือ มีอาการไอเรื้อรังเกินกว่า 2 อาทิตย์ มักมีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ร่างกายผ่ายผอมซูบซีด หากพบผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาให้พาไปตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล โดยการตรวจเสมหะ และเอ็กซเรย์ หากพบป่วยเป็นวัณโรคจะให้การรักษาโดยการกินยาตามมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ยาทันสมัย ได้รวมยารักษาที่ใช้ได้ผลดีหลายชนิดไว้ในเม็ดเดียวกัน กินง่ายขึ้น แต่ควรจะให้มีพี่เลี้ยงเช่น ญาติ คนใกล้ชิด หรือ อสม.คอยกำกับให้กินยาตามแผนรักษานานประมาณ 6-8 เดือน จนกว่าจะหายขาด เพราะเชื้อวัณโรคดื้อยาทั่วโลกมีสาเหตุเหมือนกันคือ ขาดยาหรือกินยาไม่ครบตามสูตร บางรายพอกินยาไปได้ระยะหนึ่งแล้วอาการดีขึ้น คิดว่าหายแล้วจึงหยุดกิน และโรคนี้หลังรักษาหายแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ติดต่อทางการหายใจ โดยระยะที่แพร่เชื้อสู่คนอื่นได้คือช่วงที่ตรวจพบเชื้ออยู่ในเสมหะ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code