ผู้ปกครองปลื้ม นโยบายลดการบ้านเด็ก

ที่มา : คม ชัด ลึก


ผู้ปกครองปลื้ม นโยบายลดการบ้านเด็ก thaihealth


แฟ้มภาพ


นโยบายลดการบ้านเด็ก ได้รับเสียงตอบรับดีจากผู้ปกครองและเด็ก ทั้งนี้สพฐ. เสนอแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการทำการบ้านของเด็กแต่ละระดับ


ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนทั้งจากผู้ปกครองและนักเรียน เรื่องของการบ้านที่มีมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็ก ทั้งความเครียด การขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะอื่นๆ ไม่มีเวลาที่จะร่วมกิจกรรมกับในครอบครัว เสียงสะท้อนเหล่านี้มีมาในหลายช่องทาง โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้รับรู้เสียงสะท้อนเหล่านี้ มีความห่วงใยและมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หาแนวทางลดการบ้าน จึงเป็นที่มาของหนังสือที่แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ถึงแนวปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน


ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หลักการของการลดการบ้านนั้น โรงเรียนจะต้องบริหารจัดการเอง โดยครูผู้สอนจะมีบทบาทหลัก ต้องมีการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ครอบคลุมถึงการมอบการบ้านให้นักเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นเดียวกัน ต้องมีการวางแผนร่วมกัน, ครูแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้วางแผนการให้การบ้านแบบบูรณาการร่วมกัน การบ้าน 1 ชิ้นสามารถเป็นกิจกรรมเครื่องมือในการวัดและประเมินผลร่วมกันของหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้, คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนทั้งจำนวนสาระการเรียนรู้ปริมาณของการบ้าน ระยะเวลาการส่งการบ้าน ความประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำการบ้าน และเวลาที่ใช้ทำการบ้านในแต่ละวัน ได้แก่ ประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้ทำการบ้านประมาณ 30 นาทีไม่เกิน 1 ชั่วโมง, ประถมศึกษาปีที่ 4-6 ประมาณ 1 ชั่วโมงไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที และมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ไม่เกิน 2 ชั่วโมง  “เรื่องการวางแผน การบูรณาการนั้นถ้าเป็นในโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่มีครูเพียง 1-2 คน สอนทุกกลุ่มสาระฯ ครูก็ทราบอยู่แล้วบริหารจัดการได้ แต่ในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ในแต่ละชั้นมีเด็กหลายห้องเรียน ครูผู้สอนมีหลายคน มีหลายวิชา ทุกคนก็มุ่งมั่นพัฒนากลุ่มสาระที่ตนเองสอนเพื่อให้เด็กมีความเป็นเลิศ ทำให้ต่างคนต่างให้การบ้าน แต่จากนี้ก็ต้องมาวางแผนด้วยกัน มาบูรณาการชิ้นเดียวกัน ดูว่าแบบไหนตอบโจทย์การจัดการเรียนการสอนแก่เด็ก แต่หากไม่ได้จริง ก็ต้องวางแผนว่าวิชาไหนเด็กควรไปเสริมอะไร ในช่วงเวลาวันไหนที่เหมาะสม ตามกรอบแนวปฏิบัติที่ สพฐ.มอบไปให้” ดร.บุญรักษ์ กล่าว


ทั้งนี้ สพฐ.จะมีการออกตรวจติดตามการทำงานอีกครั้งด้วยว่าโรงเรียนนำไปปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จหรือมีข้อติดขัดใด ที่สำคัญคือต้องไม่ปิดโอกาสการพัฒนาเด็กทุกด้าน


 


เรื่องนี้สำหรับเด็กๆ อย่าง “น้องอั้ง” เอกสุกฤษฎิ์ ฐิติจรัสพรสุข นักเรียนชั้น ป.5/3 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ กรุงเทพฯ บอกว่า การลดการบ้านเป็นของขวัญของพวกเขา เพราะทำให้เขาจัดสรรเวลาทำการบ้านได้ดีขึ้น มีเวลาเหลือที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบมากขึ้น โดยปกติไม่ได้มีการบ้านกลับมาทำที่บ้านมากนัก ที่จะมีบ่อยๆ ก็เป็นภาษาอังกฤษ ที่ครูจะให้แบบฝึกหัดมาเขียนพวกคำศัพท์ เขียนประโยค แต่วิชาอื่นๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ครูจะเน้นให้ใบงานและทำในห้องเรียน เพื่อที่สงสัยก็สามารถทำได้ทันที หรือวิชาใดที่เรียนจบคาบและครูให้การบ้าน น้องอั้ง และเพื่อนๆ จะใช้ช่วงเวลาว่าง เช่น พักกลางวัน ช่วงระหว่างคาบเรียน และคาบที่เสริมทักษะ มาช่วยกันทำการบ้าน


“ผมกับเพื่อนใช้ช่วงเวลาว่างทำ ถึงเวลาเรียนก็เรียน หมดคาบที่ค้างก็เอามาทำต่อให้จบ ข้อไหนที่สงสัยก็รอไปถามครูตอนชั่วโมงต่อไปที่ได้เรียน ซึ่งการทำการบ้านกับเพื่อนสนุกกว่าต้องมานั่งทำคนเดียวที่บ้าน ซึ่งผมไม่ชอบ น่าเบื่อ ที่จะมานั่งหมกมุ่นจับจดกับปากกา ดินสอ อยู่คนเดียว ทุกวันผมเลยไม่ค่อยมีการบ้านกลับมาทำ และมีเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ เช่น ดูทีวี เล่นเปตอง เล่นเกม ที่บ้านอนุญาตให้เล่นเกมวันละประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ก็จะมีอนุญาตให้เล่นนานขึ้นในบางโอกาส ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็มีไปเรียนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ เรียนแบดมินตัน และดนตรี เป็นต้น" 


น้องอั้ง ยังบอกด้วยว่า การลดการบ้านมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้จัดสรรเวลาทำการบ้านได้ลงตัว ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนข้อเสีย ถ้าเด็กอาจจะละเลยเอาเวลาไปเล่นมากเกินไป ตรงนี้ตัวเราเองก็ต้องมีสติ มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ พ่อแม่ก็จะต้องช่วยควบคุมดูแลและมีบทลงโทษก็จะช่วยดูแลเด็กๆ ให้รับผิดชอบต่อตนเองได้


 


“อุ๊” อุไรรัตน์ ดวงชัย พนักงานราชการวัย 33 ปี คุณแม่น้องอิน วัย 7 ขวบ ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นป.1 โรงเรียนสตรีบูรณวิทย์ กรุงเทพฯ บอกว่า ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเรื่องการให้การบ้านของโรงเรียน ทั้งจากน้องอิน และหลานชายที่กำลังเรียนชั้น ป.2 ในโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง โดยน้องอิมจะไม่มีการบ้านกลับมาทำที่บ้าน เพราะทุกวันช่วงเย็นน้องอินจะทำการบ้านที่โรงเรียนมีครูคอยช่วยสอนและแนะนำ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างรอพ่อและแม่เลิกงานมารับกลับบ้าน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนพิเศษที่จ่ายให้แก่โรงเรียนเดือนละ 300 บาท และพอกลับถึงบ้านน้องก็มีเวลาในการเล่น ดูการ์ตูนที่เขาชอบและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว


แต่หลานชายจะมีการบ้านกลับมาทำทุกวัน วันละ 2 วิชา ที่มีประจำคือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ใช้เวลาทำค่อนข้างนาน บางครั้งกว่าจะกลับมาถึงบ้านราว 20.00 น. ก็ยังพบว่าหลานนั่งทำการบ้านอยู่ มานั่งตรวจการบ้านก็ยังพบว่ามีหลายข้อที่ผิด ตรงนี้ยังไม่นับรวมช่วงที่เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอมก็จะมีการบ้านให้ทำเพิ่มค่อนข้างมาก หรือแม้แต่หลานชายอีกคนที่เรียนอยู่ระดับมัธยมต้น ก็มีการบ้านมากเช่นเดียวกัน ยังมีรายงานเดี่ยว งานกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบด้วย และที่สังเกตเห็นคือในช่วงเวลาที่ใกล้สอบ จะมีการบ้านและงานเหล่านี้เยอะมาก เพื่อเก็บคะแนน เด็กๆ ก็ต้องมาเร่งทำส่ง แทนที่จะได้มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ


“ไม่ปฏิเสธว่าการบ้านมีประโยชน์ และเห็นด้วยว่าควรต้องมี เพราะทำให้เด็กได้ทบทวนความรู้ บทเรียนที่เรียนในแต่ละวัน การบ้านมีทุกวันก็ได้ แต่จำนวนข้อควรจะเป็นปริมาณที่เหมาะสม เน้นเป็นการให้เด็กได้ฝึกฝน ฝึกทักษะ และมีเวลาไปพัฒนาตนเองด้วย ไม่ใช่ต้องทำเยอะๆ จนเด็กรู้สึกเบื่อหน่าย เครียดและเกิดความรู้สึกเหมือนว่าทำให้จบๆ ไป โดยที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเด็กเข้าใจหรือไม่เข้าใจในการบ้านที่เขาได้ทำเหล่านั้น” อุไรรัตน์ ระบุ


อุไรรัตน์ ยังบอกด้วยว่า เธอเชื่อเรื่องของการมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้ครูได้มีโอกาสดูแลเด็กในการทำการบ้านด้วย หรือทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้มีโอกาสคิดและโต้ตอบกับครูและเพื่อนๆ ตรงนี้จะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาและฝึกการกล้าแสดงออก ที่สำคัญอีกอย่างคือ ครูผู้สอนแต่ละวิชาน่าจะสามารถวางแผนร่วมกันได้ว่าในแต่ละสัปดาห์ ควรจะให้การบ้านเด็กแค่ไหนจึงจะเหมาะส


 


ขณะที่ “นิด” นิตยา ล้อถิรธร แม่บ้านวัย 48 ปี คุณแม่น้องเปตอง ชั้น ม.4 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (GATE Program) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย บอกว่า ปัจจุบันน้องเปตองไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของปริมาณการบ้านที่มีจำนวนมากๆ เพราะการบ้านส่วนใหญ่ครูจะให้และมีกำหนดระยะเวลาในการส่งถัดจากนั้นไปอีก 2 วันหรืออีกสัปดาห์ ซึ่งคุณแม่ก็ให้เขาจัดสรรเวลาทำการบ้านและรับผิดชอบการเรียนเองโดยไม่ได้เข้มงวดเหมือนช่วงสมัยมัธยมต้น ซึ่งถ้าย้อนไปในช่วงนั้นก็ค่อนข้างมีปัญหา ด้วยความที่มาจากโรงเรียนเอกชน มีครูคอยติดตาม พอมาเรียนโรงเรียนรัฐก็ต้องรับผิดชอบตนเอง ตามงานเอง และการบ้านก็มีทุกวิชาทุกวัน


อีกทั้ง น้องเปตอง บ้านอยู่นครปฐม เดินทางไป-กลับทุกวัน ออกแต่เช้า 05.00 น. กลับถึงบ้านประมาณ 18.00 น.ก็ค่อนข้างเหนื่อยพอสมควร และด้วยความที่ยังเด็ก ก็จะมีที่เขาติดเล่นเกม ทำให้แม่ต้องคอยดูแลมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม น้องเปตอง เรียนกวดวิชาอยู่บ้าง ในวิชาที่เขาต้องเพิ่มความรู้ให้แน่นขึ้นมากกว่าในห้องเรียน คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้เรียนทุกวัน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง ไม่นับรวมบางวันที่น้องไปติวพิเศษเพิ่มในวิชาที่อาจต้องเตรียมตัวเพื่อสอบก็ราว 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ถ้ารวมค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาก็ประมาณเดือนละ 5,000 บาท เพราะฉะนั้น แม้จะลดการบ้านก็คงไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเรียนกวดวิชา เพราะต้องยอมรับว่าในหลายครั้งการที่เด็กกวดวิชาเขาได้อะไรที่เพิ่มเติมมากกว่า และได้ความรู้ที่แน่นขึ้น


 

Shares:
QR Code :
QR Code