ผู้ขับขี่ปอดสะอาด ปราศจาก’วัณโรค’
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดกิจกรรมรณรงค์วันวัณโรคสากล ประจำปี 2561 ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ภายใต้หัวข้อ "WANTED: LEADERS FOR A TBFREE WORLD (You can make history. End TB)" แปลว่า "คุณคือผู้นำ แห่งการยุติวัณโรค เพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค"
ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายรัชชาณล กิตติพัทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการขนส่ง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ นพ.รณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณ สุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สมุทรปราการ ได้ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ "ผู้ขับขี่ปอดสะอาด ปราศจากวัณโรค" ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยตั้งจุดตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรค เพื่อลดการแพร่ระบาดของวัณโรคในกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารประจำทาง ฯลฯ
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ปัจจุบันวัณโรคยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของไทย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 120,000 รายต่อปี เสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานอาจมากถึง 4,700 ราย ทั้งนี้ สธ.ได้กำหนดเป็นนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ.2560-2564 โดยมีเป้าหมายลดอัตราป่วยร้อยละ 12.5 ต่อปี หรือจากอัตราป่วย 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2564 โดยดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ เมืองไทยปลอดวัณโรค และยุติปัญหาวัณโรค ภายในปี 2578
นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ คือ ผู้ต้องขังในเรือนจำ กลุ่มผู้ป่วยโรคร่วมต่างๆ ผู้สูงอายุ แรงงานต่างด้าว ผู้อาศัยในชุมชนแออัด ตลอดจนพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ เพราะสถานที่ที่กลุ่มเหล่านี้อาศัย หรือทำงานอยู่นั้นเป็นสถานที่ปิด แออัด จึงมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ จึงต้องควบคุมวัณโรคไม่ให้แพร่ระบาดไปสู่สาธารณชนได้ในวงกว้าง โดยค้นหาผู้ป่วยและตัดวงจรการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคดังกล่าว โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อวัณโรคโดยไม่รู้ตัว หากผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารที่ป่วยวัณโรคอยู่ในรถ ไอ จาม เชื้อวัณโรคก็จะปะปนออกมา และหมุนเวียนอยู่ในรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ปรับอากาศ ซึ่งผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารรายใหม่ที่ยังไม่ป่วยวัณโรค ก็มีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายได้
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีการนำรถเอกซเรย์ดิจิทัลไปจัดบริการเอกซเรย์ให้กับผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับรถแท็กซี่ ผู้ขับรถตู้โดยสาร ผู้ขับรถเมล์ปรับอากาศ และประชาชนทั่วไป รวมประมาณ 1,000 คน นอกจากนี้ ยังมีบูธตรวจสุขภาพ ตรวจวัดดัชนีมวลกาย (BMI) วัดความดันโลหิต รวมถึงบูธให้ความรู้ เรื่องพระราชกรณียกิจต่างๆ เกี่ยวกับการควบคุมป้องกันวัณโรค
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำว่า "วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย" ขอให้ประชาชนรีบตรวจหาวัณโรคให้เร็วที่สุด เพื่อเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้ว่าป่วยเป็นวัณโรคได้เร็ว และรักษาได้เร็ว ก็สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นได้ และให้สังเกตอาการของวัณโรค โดยเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็ว สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค โทร 0-2211-2138 หรือสายด่วน 1422