ผักหน้าแย่ ดียังไง?

ที่มา :  จารุวรรณ ชื่นชูศรี จาก  www.greenery.org ภาคีเครือข่าย สสส.


ภาพถ่ายโดย มณีนุช บุญเรือง ภาพประกอบโดย นวพรรณ อัศวสันตกุล


ผักหน้าแย่ ดียังไง? thaihealth


ผลไม้หน้าตาบูดเบี้ยวไม่เป็นที่นิยมในการเลือกซื้อของผู้บริโภค เพราะดูไม่สวยงาม น่ารับประทานเท่าไหร่นัก แต่ในต่างประเทศรณรงค์เรื่องการจัดการผักผลไม้หน้าตาบูดเบี้ยว เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด พวกเขามีวิธีจัดการอย่างไรนั้น ลองติดตามอ่านกันค่ะ


หลายครั้งที่เราเห็นผัก-ผลไม้รูปร่างบิดเบี้ยวผิดรูปหรือมีรอยตำหนิขนาดใหญ่ ไม่เกลี้ยงเกลาเนียนสวยเหมือนผลที่อยู่บนชั้นในห้างสรรพสินค้าแล้วเป็นต้องคัดทิ้งในทันที เพราะเชื่อว่าเจ้าผัก-ผลไม้หน้าตาไม่สวยเหล่านี้ เป็นผลิตผลคุณภาพต่ำที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณภาพสินค้า มากเข้าหน่อย-ที่หน้าตาประหลาดพิสดารก็อาจได้เลื่อนขึ้นแท่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ถูกนำไปใช้กราบไหว้ขอเลขเด็ดไปเสียนั่น


แต่รู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้ หลายประเทศเริ่มมีการรณรงค์ให้จัดการกับผักผลไม้หน้าตาไม่สะสวยเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่น ซูเปอร์มาเก็ตในยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่ทำแคมเปญจัดการกับผลิตผลส่วนนี้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด แทนที่จะคัดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็เปลี่ยนเป็นคัดเลือก-วางขายแยกออกมาในราคาที่ถูกลง เพื่อลดปัญหาการสูญเปล่าของทรัพยากรอาหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน (ลองคิดภาพตามว่าถ้าคนต้องการแต่ผักผลไม้หน้าตาสวยๆ แต่ผลผลิตที่เกษตรกรปลูกได้มีผลที่สวยเพียงครึ่งเดียว นั่นหมายความว่าเกษตรกรจะต้องใช้พื้นที่และทรัพยากรในการปลูกที่มากขึ้นสองเท่า เพื่อให้ได้พืชผลที่ต้องการจำนวนครึ่งหนึ่ง ทำให้กระบวนการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติถูกผลาญไปอย่างรวดเร็วโดยใช่เหตุ) ซึ่งความสูญเปล่าดังกล่าวนี้เมื่อคิดรวมๆ แล้วอาจมีจำนวนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว


ผักหน้าแย่ ดียังไง? thaihealth


ทว่าความพยายามนั้นก็ยังไม่ได้แพร่หลายมากเท่าที่ควร เชื่อเถอะว่าถ้าเลือกได้หลายคนก็ยังคงเลือกหยิบผักผลไม้ผลที่เกลี้ยงเกลาไร้รอยตำหนิมากกว่า แต่ในวันนี้คุณอาจจะต้องเปลี่ยนใจก็ได้ถ้าหากได้รู้ความลับของเจ้าพืชผลหน้าตาอัปลักษณ์พวกนี้ ว่าแท้ที่จริงแล้วภายใต้ความขรุขระ บิดเบี้ยว หรือเต็มไปด้วยบาดแผล มันอาจซุกซ่อนคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าบรรดาเพื่อนๆ ผิวเนียนสวยก็เป็นได้ เพราะอย่างน้อยการที่พวกมันสามารถเอาชนะอุปสรรคในธรรมชาติ อาทิ การกัดแทะของแมลง หรือการติดเชื้อ ก็หมายความว่ามันคือผู้แข็งแกร่งที่สามารถพิสูจน์ตัวเองจนรอดชีวิตมาได้อย่างไรล่ะ!


มีงานวิจัยหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยจากนักจัดสวนในเวอร์จิเนีย เอลิซ่า กรีนแมน ถึงการทดลองอย่างไม่เป็นทางการที่เธอทำขึ้นกับแอปเปิ้ลหน้าตาอัปลักษณ์ว่า แอปเปิ้ลเหล่านี้จะมีความหวานกว่า และมีสารแอนติออกซิแดนท์ (Antioxidant) หรือสารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ในปริมาณที่มากกว่า เอลิซ่าเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความกดดัน-บีบคั้นในผักผลไม้ สอดคล้องกับผลการวิจัยในนิวคาสเซิลปี 2014 ที่พบว่าผักผลไม้ที่รับการฉีดยาฆ่าแมลง ปกป้องรูปทรงให้สวยงาม จะมีปริมาณสารแอนติออกซิแดนท์ลดลง น้อยกว่าพืชผลที่เป็นออร์แกนิกราว 16 – 19 เปอร์เซ็นต์


ผักหน้าแย่ ดียังไง? thaihealth


นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่พูดถึงสารประกอบฟีนอลิค (เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน) ระหว่างพืชที่มีใบสมบูรณ์สวยงาม กับพืชที่ผ่านบททดสอบของธรรมชาติ พบว่าผักผลไม้ในรูปแบบบิดเบี้ยวมีสารดังกล่าวมากกว่าถึง 10 -20 เปอร์เซ็นต์


ได้ยินอย่างนี้แล้วคราวหน้าที่หิ้วตะกร้าไปตลาดก็อย่าลืมมองหาพืชผลหน้าตาขรุขระ บิดเบี้ยว ติดมือกลับบ้านบ้างนะ นอกจากจะกินสดๆ จะเอาไปแปรรูปทำแยมผลไม้หรือปั่นใส่น้ำแข็งคลายร้อนก็เข้าท่า เพราะงานนี้ไม่ใช่แค่ได้ช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งให้กับโลกอย่างเดียว แต่ยังเป็นเคล็ดลับเติมประโยชน์ให้สุขภาพที่ทำได้ง่ายๆ แถมอาจสบายกระเป๋ากว่าด้วย!


ผักหน้าแย่ ดียังไง? thaihealth


The Ugly Fruit And Veg Campaign อันที่จริงแล้วถ้าเรามองดีๆ เจ้าผัก-ผลไม้หน้าตาประหลาดเหล่านี้ก็มีมุมน่ารักอยู่เหมือนกันนะ ไม่เชื่อใช่ไหมล่ะ งั้นต้องคลิกเข้าไปดูที่นี่เลย The Ugly Fruit And Veg Campaign เพจแคมเปญดีๆ ที่ชายคนหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อรวบรวมรูปพืชผลหน้าตาประหลาด เป็นหนึ่งในเสียงเรียกร้องให้ผู้คนไม่ตัดสินผัก-ผลไม้จากเพียงหน้าตา เพื่อลดการสูญเปล่าของทรัพยากรอาหารโลกลง

Shares:
QR Code :
QR Code