ผักสุขภาพ…ภาษีเจริญ’ ทุกอย่าง 15 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
"ผักสุขภาพ…ภาษีเจริญ" สุดฮอต ทุกอย่าง 15 บาทราคาเดียว ชูประโยชน์เพื่อสุขภาพคนเมืองหลวง รับประกันคุณภาพตามมาตรฐานหลัก PGS เปิดพื้นที่ดึง "มหา'ลัย-ชุมชน-เกษตรกร-แม่ค้า" จับมือสานประโยชน์ลงตัวทุกฝ่าย เปิดให้นักศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชน
การเปิดตัว "ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" ซึ่งเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ณ ตลาดวัดชัยฉิมพลี ที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสความต้องการในการเข้าถึงผักสุขภาพของคนเมืองกรุงและชาวภาษีเจริญอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความสำเร็จของการรวมพลังเกษตรกรเมืองในการเพิ่มผลผลิตผักสุขภาพ "ม.สยาม-สสส.-เขตภาษีเจริญ-เครือข่ายภาคี" จึงพร้อมใจเปิดจำหน่ายผักสุขภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ห่วงใยต่อสุขภาพ โดยเปิดพื้นที่ มหาวิทยาลัยสยาม ให้เป็นแหล่งจำหน่าย ซึ่งบุคลากร นักศึกษาและชุมชนใกล้เคียง สามารถจัดหาเพื่อบริโภค "ผัก" ที่อุดมด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่เสี่ยงต่อการบริโภคผักที่มีสารพิษตกค้าง นับเป็นการขับเคลื่อนให้คนเมืองกรุงได้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
"ดร.พรชัย มงคลวนิช" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม บอกถึงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยสยาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ และเครือข่ายภาคี เปิดตัว "ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" ที่ตลาดวัดชัยฉิลพลีว่า ตลาดผักสุขภาพดังกล่าวได้สร้างกระแสความต้องการในการเข้าถึงผักสุขภาพของคนเมืองกรุงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวภาษีเจริญหันให้ความนิยมอย่างมาก ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยสยามสนับสนุนพื้นที่ให้เป็นแหล่งจำหน่ายผักสุขภาพฯ เพราะเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนเมืองกรุง รวมถึงบุคลากร นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและชุมชนใกล้เคียง ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ในขณะที่มหาวิทยาลัยสยาม โดยศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนเป็นแกนหลักในการเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะจนสามารถพัฒนาให้เกิด
"ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" เป็นผักที่ผ่านขั้นตอนการควบคุมคุณภาพอย่างมีส่วนร่วมตามหลักการของ PGS หรือ Participatory Guarantee Systems โดยเกษตรกร แม่ค้า ผู้บริโภค และนักวิชาการรวมตัวกันเป็นกลไกในการตรวจสอบมาตรฐาน
"นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับการบูรณาการการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสยาม ด้วยการให้นักศึกษาร่วมกระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชน เรียนรู้การพัฒนารูปแบบการปลูกผักของคนเมืองกรุง ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ และเพื่อให้เส้นทางผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยสยามพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่" ดร.พรชัย กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน ผู้พัฒนาพื้นที่ชุมชนเขต ภาษีเจริญ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ด้วยการสนับสนุนจาก สสส. กล่าวว่า นับตั้งแต่การเปิดตัว "ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" ที่มีการตั้งราคา 15 บาททุกรายการ ภายใต้มาตรฐาน และการควบคุมคุณภาพผัก ในรูปแบบของคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพผักด้วยกระบวนการที่ยึดหลักคุณธรรม และการมีส่วนร่วม ที่เรียก PGS เกษตรกรอยู่ได้ แม่ค้าไม่ขาดทุน ผู้บริโภคเข้าถึง สามารถตรวจสอบได้ทางวิชาการ พบว่ามีผู้บริโภค ณ จุดจำหน่าย ตลาดวัดชัยฉิมพลีซึ่งเป็นพื้นที่แรก ในเขตภาษีเจริญ ตอบรับเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าวว่า จากการสำรวจความต้องการบริโภคผักที่ปลอดภัย 301 ราย พบว่า ร้อยละ 95 มีความต้องการบริโภค แต่ขาดการเข้าถึงแหล่งจำหน่าย และมีข้อกังวลในเรื่องของราคาที่อาจแพง ดังนั้น ศวพช. สสส. และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดกระบวนการพัฒนาและสร้างเกษตรกรเมือง ปลูกผักด้วยตนเอง ภายใต้มาตรฐานผักสุขภาพ ภาษีเจริญ เพื่อบริโภคและเหลือจำหน่ายหล่อเลี้ยงคนเมืองกรุง จนเกิดการรวมตัวของเกษตรกรเมืองกว่า 25 ราย เพิ่มพื้นที่การปลูกผักที่ปลอดภัยได้อีกกว่า 14,161 ตารางวา
นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายผักสุขภาพในพื้นที่ใกล้เคียงต่างตื่นตัวให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น การเพิ่มพื้นที่ตลาด นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการขาย เกษตรกรมีรายได้และมีกำลังใจในการผลิตผักที่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงการบริโภคผักที่ปลอดภัยของคนเมืองกรุงด้วย การเพิ่มพื้นที่จำหน่าย "ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" ณ มหาวิทยาลัยสยาม จึงยังประโยชน์ให้ทั้งกลุ่มเกษตรเมืองและผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง
"การขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มผลผลิตผักที่ปลอดภัย และมีกลไกในการตรวจสอบอย่างมีส่วนร่วม จะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะระดับเขต ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคีทั้งเกษตรกร แม่ค้า ผู้บริโภค นักวิชาการ จะคงเดินหน้าต่อไป เพื่อพัฒนาให้เกิดเส้นทางอาหารที่มั่นคงหล่อเลี้ยงคนเมืองกรุง ท่ามกลางข้อจำกัดของพื้นที่เมือง ที่นับวันจะมีปัญหาในการปลูกผัก ผลไม้"
ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าวว่า อย่างไรก็ดีคนเมืองกรุงไม่ควรจำนนต่อข้อจำกัดของพื้นที่ การประยุกต์ใช้พื้นที่ให้เหมาะสม เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ผักสามารถปลูกได้ในทุกรูปแบบหากเราปรับพื้นที่ ผักสามารถปลูกได้ในรูปแบบแนวตั้ง เป็นผักคอนโด ผักลอยฟ้า ผักอุโมงค์หรือแนวนอน เป็นผักลอยน้ำ แค่พื้นที่ 1 ตารางเมตร ทุกครอบครัวสามารถผลิตผักได้ประมาณ 1 กิโลกรัม และยังได้สานสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ด้วยกิจกรรมดีๆ ปลูกผักในรูปแบบใหม่…
เมื่อรวมพื้นที่เล็กๆ เหล่านั้นมาปลูกผัก จะพบว่า ผลผลิตที่ได้นอกจากจะเหลือรับประทานแล้ว ยังสามารถนำมาจำหน่ายในรูปแบบ ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ โดยสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพ ที่ภาคีเครือข่ายจะเข้าไปหนุนเสริม หากทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่จำกัด ในอนาคตกรุงเทพฯ จะกลายเป็นแหล่งผักที่ปลอดภัย หล่อเลี้ยงคนเมืองกรุง ได้อย่างทั่วถึงแน่นอน