ผลิต “ขนมไทยอ่อนหวาน”

สร้างทางเลือกใหม่เพื่อผู้บริโภค

 

ผลิต “ขนมไทยอ่อนหวาน”

          ดร.นพ.สมยศ  ดีรัศมี  อธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่าปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมติดหวานกันมากขึ้นและมีการบริโภคน้ำตาลกันอย่างฟุ่มเฟือยจนเกินกว่ามาตรฐานกำหนดถึง 3 เท่า เฉลี่ยแล้วคนไทยบริโภคน้ำตาลคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือวันละ 20 ช้อนชา ขณะที่ค่ามาตรฐานให้บริโภคได้ไม่เกินคนละ 10 กิโลกรัมต่อปี หรือวันละ 6-8 ช้อนชาเท่านั้นการบริโภคน้ำตาลของคนไทยมีทั้งทางตรงคือ การเติมน้ำตาลลงในอาหารประเภทต่างๆ ส่วนทางอ้อมน้ำตาลจะอยู่ในเครื่องดื่มสำเร็จรูป เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพรรสหวานจัด รวมถึงขนมหวาน ขนมกรุบกรอบและอาหารอื่นๆ ปริมาณน้ำตาลที่บริโภคเกินความต้องการของร่างกายนั้นเมื่อใช้พลังงานไม่หมดจะเป็นพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายสะสมให้เป็นไขมันทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงได้

 

          จากสถานการณ์ปัญหาโรคอ้วนปี 2551 พบว่าคนไทยทั่วประเทศมีภาวะอ้วนลงพุงมากถึง 22 ล้านคน แบ่งเป็นเพศชาย 8 ล้านคน หรือร้อยละ 34 และเพศหญิง 14 ล้านคน หรือร้อยละ 58 ซึ่งภาวะอ้วนลงพุงถือเป็นวิกฤตสุขภาพที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และต่องบประมาณด้านสุขภาพของประเทศไทยเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรควิถีชีวิตตามมา เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงไขมันในเส้นเลือดอุดตัน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งพบว่ามีคนไทยป่วยสูงถึง 10 ล้านคน

 

          ในปี 2553 นี้ กรมอนามัยได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยได้ขยายความร่วมมือกับจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายขนมไทยอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในการผลิตขนมไทยลดหวานมันเค็มปัจจุบันมีร้านที่เข้าร่วมโครงการฯแล้วจำนวน 16 ร้าน ผลิตขนมไทยอ่อนหวาน 6 ชนิดได้แก่ ขนมหม้อแกง ขนมบ้าบิ่น ขนมอัลลัว ขนมทองม้วน ขนมข้าวตูขนมข้าวเม่ามะพร้าวอ่อน ซึ่งทุกร้านจะลดปริมาณน้ำตาล เกลือ กะทิ จากสูตรขนมดั้งเดิมลงร้อยละ 15-20 ขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม จึงเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคที่นิยม ขนมหวานแต่ที่สำคัญควรบริโภคในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังลดช่วยลดปัญหาติดหวานลดเสี่ยงการเกิดโรคอ้วน ลงพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

 

 

update: 04-05-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code