ผลักดัน 5 ประเด็นสร้างคุณภาพชีวิตคนใต้

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพโดย สสส.


ผลักดัน 5 ประเด็นสร้างคุณภาพชีวิตคนใต้ thaihealth


"กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด" 4 สิ่งเหล่านี้หากเกิดขึ้นกับบุคคลใด บุคคลนั้นย่อมมีสุข และหากเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคมใด สังคมนั้นก็ย่อมมีความสุข


และ 4 สิ่งนี้ คือเป้าหมายของหน่วยงานนอกระบบราชการตระกูล ส. อันประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้เกิดภาคีสุขภาพ เพื่อสุขภาวะของประชากรประเทศไทย


โครงการสร้างสุขภาคใต้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานนอกระบบ ทั้ง 3 แห่ง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง โดย สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) มีเป้าหมาย 4 หลัก คือ 1) วิถีความเป็นอยู่ 2) ความมั่นคงทางอาหาร 3) ความมั่นคงทางสุขภาพ และ 4) ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายการพัฒนายกระดับ รวม 12 ประเด็น รวมกันเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ


ผลักดัน 5 ประเด็นสร้างคุณภาพชีวิตคนใต้ thaihealth


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมนิภาการ์เด้น อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า เรื่องของสุขภาวะเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อมโยง โดยเริ่มจากตนเองไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม รวมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การจัดเวทีวิชาการประจำปี 2562 เป็นการจัดติดต่อกันเป็นครั้งที่ 11 ภายใต้ชื่อ สานพลังการก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อภาคใต้แห่งความสุข หลังจากที่เราดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ จนมีพื้นที่ต้นแบบครอบคลุมทุกภาคีในพื้นที่และให้เกิด "ความเป็นเครือข่ายสุขภาวะ" ในการสร้างสุขภาคใต้นั้น เริ่มจากต้นทุนที่พื้นที่ภาคใต้มีอยู่ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทั้งบนพื้นดินและทางทะเล มีวัฒนธรรม อารยธรรมที่หลากหลาย พื้นที่การเกษตรที่เหมาะสมในการเพาะปลูก จะทำอย่างไรที่จะนำต้นทุนที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการสร้างสุขมาสู่คนในครอบครัว ชุมชน และสังคมในพื้นที่ โดยที่ยังคงรักษาสภาพต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อลูกหลานในอนาคต


ผลักดัน 5 ประเด็นสร้างคุณภาพชีวิตคนใต้ thaihealth


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า สสส. พร้อมด้วย 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกันดำเนินการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ในช่วงตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมวิชาการนี้เป็นเวทีหนึ่งที่ให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางมนุษย์ ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และชุมชนน่าอยู่ ตำบลจัดการตนเอง จริยธรรมสื่อทางสุขภาวะ ซึ่ง สสส. ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานของภาคีสุขภาวะที่เกี่ยวข้องให้เกิด "ความเป็นเครือข่ายสุขภาวะ" มุ่งเน้นกระบวนการสานงานเสริมพลังข้ามประเด็น-ข้ามพื้นที่และมีความต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายใหม่ในการขับเคลื่อนงานสู่การก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อสุขภาวะ และพัฒนาระบบสื่อสารในลักษณะการสานพลัง และยกระดับความรู้และนวัตกรรมสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นเป้าหมายร่วมคือสุขภาวะของคนใต้ ซึ่งสอดคลองกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร


ผลักดัน 5 ประเด็นสร้างคุณภาพชีวิตคนใต้ thaihealth


สำหรับแนวทางสร้างสุขภาคใต้ ภายใต้ชื่อ สานพลังการก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อภาคใต้แห่งความสุขนั้น การทำงานส่งเสริมจะเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ระบุทิศทางของภาคใต้ไว้ 6 เรื่อง โดยสอดคล้องกับเรื่องการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรหลักของภาค สร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกร อนุรักษ์ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องทำงานบูรณาการเชื่อมร้อยกับทุกภาคส่วน เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด เชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัญหาโดยใช้กลไกที่มีในพื้นที่ดำเนินงานและเสริมการทำงานไปด้วยกัน เช่น กลไกกองทุนตำบล เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้ว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจะให้ความสำคัญกับทุกภาค แต่ในพื้นที่ภาคใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิประเทศ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นภาคใต้ยังมีหน่วยงานจัดการที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะทางด้านวิชาการที่มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวกลาง ทำให้เกิดการรวมตัวของภาคีเครือข่ายทั้ง 14 จังหวัด เป็นไปอย่างเข้มแข็งและนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาในประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องอาหาร การประมง และสิ่งแวดล้อม จนทำให้ทุกวันนี้ภาคใต้สามารถเป็นต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถนำไปเป็นต้นแบบให้ภาคอื่นนำไปแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code