ผลักดันร่าง `Code` เพื่อหนุนนมแม่

       โครงการการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่และผลักดันร่างพรบ.ฯ จัดการแถลงข่าว “การตลาดนมผง = เสี่ยง” ในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา  ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ  เรียกร้องสังคมตระหนักถึงสิทธิเด็ก แสดงความเป็นห่วง หากปล่อยอุตสาหกรรมนมผงละเมิด code องค์การอนามัยโลก เพราะเสี่ยงโรคร้ายกับเด็ก พร้อมรวมพลังเครือข่ายผลักดัน พรบ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย  


/data/content/25394/cms/e_abjkpqyz1479.jpg


        คุณพรธิดา พัดทอง ผู้แทนจากยูนิเซฟ กล่าวว่า “ขณะนี้ประเทศไทย ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมนมผงในประเทศละเมิดสิทธิเด็ก  เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำงานเฝ้าระวังการตลาดนมผง และรณรงค์ให้คุณแม่ทั่วประเทศรู้ทันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตลาดนมผง โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือการสร้างความเข้าใจผิดว่านมผงมีความพิเศษกว่านมแม่ จึงทำให้คุณแม่หลายท่านคิดว่าไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูด้วยนมแม่ และเน้นให้ลูกกินนมผงแทน ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า การบริโภคนมผงทำให้เด็กทารกเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน และโรคติดเชื้อ ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศสมาชิกจึงได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (Code นม) ซึ่งกำหนดไว้เพื่อปกป้องเด็กทุกคนให้มีโอกาสได้กินนมแม่ การแถลงข่าวในวันนี้ จะเป็นความหวังต่อความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ  ที่จะร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยมีพรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกฯ  จากการให้ข้อเท็จจริงและความจำเป็นที่จะต้องมีพรบ.นี้  ในการปกป้องเด็กไทยต่อสังคมไทย”


       นายแพทย์สราวุธ   บุญสุข   หัวหน้ากลุ่มอนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า “มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง   มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สูงขึ้น ปัจจุบันใน 35 ประเทศ ทั่วโลกมีกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กแบบเต็มรูปแบบที่ชัดเจน 44 ประเทศ มีกฎหมายที่ในหลายส่วน 19 ประเทศ มีกฎระเบียบที่ควบคุมบางส่วน ด้วยบทบาทและความรับผิดชอบหลักของกระทรวงสาธารณสุขต่อสุขภาพประชาชน ประกอบกับนโยบายแห่งรัฐในการที่จะดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายให้สอดรับกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง    เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและสมประโยชน์ ตามสิทธิผู้บริโภคเด็กพึงได้รับ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”


       พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ขอแสดงความเป็นห่วงสถานบริการสาธารณสุขอยากให้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตามแนวทางขององค์อนามัยโลก  แนวปฏิบัติที่สำคัญนั้น เริ่มตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ การให้แม่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่และความเสี่ยงของทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอดแม่จะต้องได้โอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อ ถือเป็นช่วงนาทีทองของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก สัญชาตญาณของลูกจะกระตุ้นให้ลูกเข้าหาเต้าแม่และดูดนมแม่ทันที ในรายที่แม่ผ่าตัดคลอดการนำลูกมาให้แม่โอบกอดและดูดนมแม่ก็สามารถทำได้ แม้กระทั่งในห้องผ่าตัดหรือเมื่อแม่รู้สึกตัวดีตอบสนองต่อลูกได้ จากนั้นควรให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา เพื่อให้ได้เรียนรู้และสังเกตพฤติกรรมของลูก สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูก เมื่อหิว หรือต้องการขับถ่าย เป็นต้น  ดังนั้นจึงไม่ควรให้สารอาหารอื่น ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และไม่ให้ทารกดูดหัวนมยางหรือหัวนมหลอก ในกรณีที่แม่ลูกต้องแยกจากกัน ในกรณีที่ทารกเกิดก่อนกำหนดหรือป่วย แม่จะได้รับการสอนบีบนมเพื่อป้อนให้กับลูก และเมื่อแม่กลับบ้านจะต้องให้คำแนะนำหรือบอกสถานที่ที่แม่จะไปขอความช่วยเหลือได้ที่ใด เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อทารกมีสุขภาพแข็งแรง”


       ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ  กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการตลาดนมผง


/data/content/25394/cms/e_adeqstvz2348.jpg

ในประเทศไทย  พบการละเมิด Code ขององค์การอนามัยโลก ทั้งในลักษณะโจ่งแจ้งชัดเจนและแบบแนบเนียน ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อาหารทารกและเด็กเล็ก  ทางทีวี  หนังสือพิมพ์  วิทยุ  นิตยสาร  หรือสื่อออนไลน์  การแจกตัวอย่างสินค้าและของขวัญฟรีแก่แม่ทั้งทางตรงและทางอ้อม การใช้พนักงานการตลาดติดต่อหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว เพราะพนักงานจะมีวิธีชักจูงโน้มน้าวและให้ข้อมูลที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่า ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การใช้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการอาหารทารก ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอนามัย โดยข้อมูลที่ให้ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง รวมถึงการใช้ฉลาก แสดงรูปภาพของทารกหรือข้อความชักจูงให้ใช้สินค้า


       คุณศศิธร วัฒนกุล ตัวแทนเครือข่ายคุณแม่  กล่าวว่า “ด้วยประสบการณ์การทำงานกับมูลนิธิศูนย์นมแม่ ทำให้มีความรู้ถึงคุณค่าของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และรู้ว่านมแม่มีความหมายทั้งด้านสุขภาพเด็กให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ แล้ว ยังมีผลต่อจิตใจและความผูกผันระหว่างแม่กับลูก สำหรับการตลาดของบริษัทนมผง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ว่ามีความพิเศษในด้านต่างๆ ทำให้คุณแม่หลายคนไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่ ตัวเองจึงปฏิเสธการเป็นพรีเซ็นเตอร์นมผง และไม่สนับสนุนให้คุณแม่ทั้งหลายเลี้ยงลูกด้วยนมผง  อยากให้คุณแม่ทุกคนรู้เท่าทันการตลาดนมผง ที่เข้าถึงคุณแม่ตั้งแต่อยู่บนแผง โฆษณาทางทีวี หรือในการจัดกิจกรรมการตลาดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  ในฐานะตัวแทนคุณแม่ที่รักลูก และห่วงใยไปถึงเด็กๆ ที่เป็นลูกของคุณแม่ทุกคน จึงอยากเห็นเด็กไทยได้รับการคุ้มครอง และขอให้คุณแม่ทุกท่านร่วมกันสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพรบ.ควบคุมการส่งเสริมตลาด/data/content/25394/cms/e_gijknqruv129.jpgอาหารทารกและเด็กเล็กฯ เพื่อคุ้มครองเด็กๆ ของเราในอนาคตอันใกล้”


      เครือข่ายแม่ภาคประชาชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะตื่นตัวต่อความเสี่ยงที่เกิดกับเด็กทารก ด้วยการร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยมีมาตรการทางกฎหมายที่สอดรับกับหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ขอให้สถานบริการสาธารณสุขและคุณแม่ทุกท่านร่วมกันปกป้องเด็กไทยด้วยการสนับสนุนให้ทารกดื่มนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน และขยายผลการรู้เท่าทันตลาดนมผง เพื่อให้เด็กไทยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายและเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงในอนาคต


 


 


      ที่มา: มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

Shares:
QR Code :
QR Code