ผลสำรวจในช่วงเทศกาลตรุษจีน

“แนวโน้มในภาพรวมของเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนคาดว่าจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาทั้งในการจับจ่ายใช้สอยซื้อของเซ่นไหว้ จ่ายแต๊ะเอีย รวมถึงไปทำบุญตามประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด ฝันซื้อบ้านหลังละสามล้าน รถยนต์คันใหม่คันละหนึ่งล้านบาท เศรษฐกิจดีเงินสะพันกว่าแสนล้านบาท”

เอแบคโพลเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง การจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีนที่พักอาศัยในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,269 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 78.6 ระบุรับรู้/รับทราบเกี่ยวกับวันตรุษจีน ที่เหลือร้อยละ 21.4 ไม่รับรู้/รับทราบ

เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายที่เตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 30.6 จะจับจ่ายใช้สอย 6,001 บาทขึ้นไป รองลงมา คือร้อยละ 24.9 ระบุไม่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 22.5 ระบุ 2,001-4,000 บาท  และร้อยละ 22.0 ระบุ 4,001-6,000 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 7,68-60,000 บาท

เมื่อสอบถามถึงการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มตัวอย่างครึ่งต่อครึ่งหรือร้อยละ 50.0 มีแนวโน้มการจับจ่ายซื้อของไว้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.8 ระบุจะมีการใช้จ่ายสำหรับอั่งเปาเพิ่มขึ้น และร้อยละ 44.2 ระบุจะใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและอื่นๆ เพิ่มขึ้น

5 อันดับของกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกเหนือจากซื้อของเซ่นไหว้ ได้แก่ อันดับแรกหรือร้อยละ 44.7 ระบุทำบุญ/บริจาคทาน อันดับสองหรือร้อยละ 39.7 ระบุรวมญาติ อันดับสามหรือร้อยละ38.0 ระบุไปศาลเจ้า อันดับสี่หรือร้อยละ 34.6 ระบุแสดงความเคารพผู้มีพระคุณ และอันดับห้าหรือร้อยละ 28.3 ระบุไม่มีอะไรเป็นพิเศษไปจากชีวิตประจำวันปกติที่ไม่ใช่เทศกาลตรุษจีน ตามลำดับ

สำหรับความตั้งใจจะไปท่องเที่ยวภาคต่างๆ ของประเทศของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 66.1 ระบุจะไม่ไปท่องเที่ยวที่ไหน ในขณะที่ร้อยละ 9.1 ระบุจะเดินทางไปภาคเหนือ ร้อยละ 7.8 ระบุภาคตะวันออก ร้อยละ 7.0 ระบุ ภาคกลาง ร้อยละ 5.7 ระบุภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 4.3 ระบุภาคใต้

เมื่อสอบถามต่อไปอีกถึงจังหวัดในแต่ละภาคที่ตั้งใจจะเดินทางไป พบว่า ภาคเหนือประชาชนจะไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง  ภาคกลางประชาชนตั้งใจจะไป กรุงเทพมหานคร สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี เพชรบุรี ภาคตะวันออกประชาชนตั้งใจจะไปเที่ยว จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนตั้งใจจะไปเที่ยว อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น เลย หนองคาย และภาคใต้ประชาชนตั้งใจจะไปเที่ยว สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร ตามลำดับ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code