ผลสำรวจระดับโลกธุรกิจยาสูบบ๊วยน่าเชื่อถือ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการสำรวจที่พบว่าธุรกิจบุหรี่ได้รับความน่าเชื่อถือต่ำสุดในการจัดอันดับประจำปี การสำรวจดังกล่าวทำโดย โกลโบล เรปพิวเตชั่นพลัส (The Global Reputation Pulse 2010) สถาบันวิจัยชั้นนำนานาชาติ หน่วยงานกลางซึ่งเชี่ยวชาญในการสำรวจความน่าเชื่อถือขององค์กรธุรกิจ
รายงานดังกล่าวได้จากการสัมภาษณ์ผู้บริโภค 8 หมื่นคนใน 32 ประเทศด้วยระเบียบวิจัย
มาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกประเทศ ที่สำรวจธุรกิจขนาดใหญ่ของโลก 600 ราย ในประเด็นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ น่าเป็นที่เคารพ น่าประทับใจ และมีความรู้สึกที่ดีต่อธุรกิจ
ธุรกิจยาสูบได้อันดับสุดท้ายใน 25 ประเภทธุรกิจ ที่ได้รับการจัดอันดับ และผลการสำรวจ
ของปี ค.ศ. 2010 แย่ลงกว่าผลของปี ค.ศ.2009 ถึง 4.40% โดยคะแนนความน่าเชื่อถือสูงสุดได้แก่ธุรกิจสินค้าบริโภคที่ได้ 75.47, อันดับ 2 ธุรกิจ อาหาร 74.43, อันดับ 10 ธุรกิจยา 67.49, อันดับ 17 ธุรกิจพลังงาน 64.90 และต่ำสุด คือธุรกิจยาสูบ อันดับที่ 25 ได้ 51.24 ขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 64.20
สำหรับประเทศไทยการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ค.ศ.2009 พบว่า ใน 24 วิชาชีพ
ที่ประชาชนรู้สึกประทับใจ ผู้ประกอบการธุรกิจยาสูบได้อันดับที่ 24 ขณะที่ครู อาจารย์ นักวิชาการ ได้อันดับหนึ่ง บุคลากรสาธารณสุขอันดับสอง และผู้พิพากษาอันดับสาม และอาชีพผู้ประกอบการธุรกิจ
อนึ่ง อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบองค์การอนามัยโลก ข้อ 5.3 กำหนดให้ภาคีสมาชิก
เปิดโปงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมของธุรกิจยาสูบ ที่ทำเพื่อที่ต้องการให้คนสูบบุหรี่ต่อไป อนุสัญญาจึงมีมติให้ภาคีสมาชิกห้ามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐรับหรือร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมของธุรกิจยาสูบ ห้ามเผยแพร่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของธุรกิจยาสูบ และให้ออกกฎหมายห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงการบริจาคเงินให้แก่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยขณะนี้มัวริเชียสเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายนี้แล้ว
สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ อยู่ในระหว่างการ
เตรียมการเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางการดำเนินการตามมติข้อ 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบ โดยที่ผ่านมากรมประชาสัมพันธ์ได้ออกประกาศห้ามประชาสัมพันธ์การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากธุรกิจยาสูบ ทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 แต่บริษัทบุหรี่ยังคงอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update : 21-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ