ผลของความเครียดต่อสุขภาพ

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ผลของความเครียดต่อสุขภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


คนส่วนใหญ่มักไม่แน่ใจว่าความเครียดคืออะไร อย่างใดจึงเรียกว่าเครียด หรือรู้ตัวได้อย่างไรว่าตนเองเครียด บางคนอาจจะโดนความเครียดรุมเล่นงานโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ 


การที่จะรู้ว่าตนเองหรือคนรอบข้างเครียดหรือไม่ ลองสำรวจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตามปกติดูว่ามีอะไรผิดแปลกไปบ้าง ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการแสดงออกทางอารมณ์ คนที่เครียดมักจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหร้ายมากกว่าที่เคยเป็น ระงับอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ หากเป็นยามปกติเมื่อมีสิ่งมากระทบจิตใจ ส่วนมากมักจะควบคุมตนเองได้ รู้จักคิดกลั่นกรองหาเหตุผล แต่ตอนที่อยู่ในภาวะเครียด ความควบคุมตนเองจะน้อยลง ฉะนั้น บางครั้งจะแสดงออกรุนแรงมากกว่าที่ตนเองเคยเป็น โกรธง่าย โมโหง่าย ฉุนเฉียวง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้มากขึ้น 


สำหรับการแสดงออกทางกาย ความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสารทุกข์ออกมาคือ อะดรีนาลิน สตีรอยด์ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เข้าสู่กระแสหมุนเวียนเลือดจะนำไปสู่อวัยวะสำคัญต่างๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ รวนเรไปหมด


ผลของความเครียด


ดังที่กล่าวไปแล้วว่าฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งในขณะเกิดความเครียดนั้นส่งผลสู่อวัยวะสำคัญๆของร่างกาย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการทำงาน ดังนี้


  1. หัวใจ ปกติหัวใจจะเต้นประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที พอเกิดความเครียดหัวใจจะเต้นแรงขึ้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ดังนั้นผู้ที่เครียดจะรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรงจนรู้สึกได้ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก เมื่อหัวใจเต้นมากกว่าปกติสักพักจะเหนื่อย 
  2. หลอดเลือด ความเครียดจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวตีบตัน ทำให้อวัยวะต่างๆได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่พอ เช่น หากเกิดกับสมอง ทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดหัว เวียนหัว หากเกิดกับหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นโรคหัวใจ และเมื่อหลอดเลือดตีบมากๆ จะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง ฮอร์โมนสารทุกข์ยังกระตุ้นให้ไขมันที่สะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆหลุดออกมา เมื่อไขมันหลุดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไขมันอุดตันหลอดเลือด 
  3. ตับ กรดไขมันที่ถูกกระตุ้นออกมา หากผ่านมายังตับ ตับจะเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่เครียดมากๆจะเป็นโรคเบาหวาน
  4. กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อทุกส่วนจะหดเกร็ง จะสังเกตได้ว่าคนที่เครียดหน้าตาจะเขม็งเกร็ง การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่
  5. หลอดลม ปกติหลอดลมจะมีขนาดใหญ่ เมื่อเกิดความเครียดหลอดลมจะหดเล็กลง ทำให้ต้องหายใจแรงๆ ดังนั้น คนที่เครียดจะมีอาการถอนหายใจเพราะหายใจออกโดยแรง
  6. ระบบทางเดินอาหาร พอเครียดทางเดินอาหารตั้งแต่คอหอย ลำไส้ กระเพาะอาหารจะหดลง ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และเป็นสาเหตุให้ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น เป็นสาเหตุของลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล
  7. นอนไม่หลับ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งตัว หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง ใจคอฟุ้งซ่าน จึงเกิดอาการนอนไม่หลับ
  8. สมรรถภาพทางเพศลดลง
  9. มะเร็ง ฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งจากความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง สังเกตได้ว่าคนที่เครียดจะไม่สบายง่าย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เป็นแผลในปาก เมื่อภูมิต้านทานลดลง ฮอร์โมนสารทุกข์เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติ จนเจริญเติบโตเป็นเนื้องอกมะเร็งในที่สุด


ที่กล่าวมาล้วนเป็นผลของความเครียดต่อร่างกาย หากไม่ได้รับการบำบัดหรือคลายเครียด ความเครียดอาจจะสะสมทำให้เป็นโรคจิตโรคประสาทได้ หากเป็นไม่มากก็อาจแค่วิตกกังวล นอนไม่หลับ แต่ถ้าเป็นมากก็อาจจะเป็นโรคประสาทได้

Shares:
QR Code :
QR Code