ผนึกกำลัง 8 องค์กรต้าน “ข่าวปลอม”

ที่มา : ข่าวสด


ภาพโดย สสส.


ผนึกกำลัง 8 องค์กรต้าน


จากปัญหาข่าวปลอมสะพัดอยู่ในโลกออนไลน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ จึงจัดเสวนาเรื่อง 'รวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม' โดยมี นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เข้าร่วม


ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สื่อดิจิตอลทวีบทบาทเป็นสื่อหลัก หากประชาชนมีการใช้และรับสื่ออย่างรู้ไม่เท่าทัน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ข่าวลวง (Fake News) ที่แทรกอยู่ในประเด็นต่าง ๆ การมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิตอลและร่วมกันเฝ้าระวังข่าวลวง จึงเป็นจุดคานงัดสำคัญ สสส.ร่วมกับ 7 องค์กร ได้แก่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ องค์กรฟรีดิช เนามานน์ ฟาวน์เดชั่นฟอร์ ฟรีดอม (FNF) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จึงมุ่งการพัฒนา "คน" ทุกวัยสู่การเป็นพลเมืองดิจิตอลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม


"สสส.พยายามขับเคลื่อนสิ่งที่นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น ยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในสื่อ ทั้งสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย อาทิ การกินยาเพื่อหายจากโรคต่าง ๆ ทั้งที่จริงป่วยจะหายเมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การกิน การเลิกเหล้าและบุหรี่ การผนึกกำลังกันในครั้งนี้อาจจะไม่สามารถหยุดข่าวลวงได้ทั้งหมด แต่มุ่งหวังจะให้ลดปริมาณข่าวลวงให้ได้มากที่สุด" ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะกล่าว


ผนึกกำลัง 8 องค์กรต้าน


นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม เพื่อร่วมสร้างกลไกการรับมือและต้านข่าวลวง สร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมการตรวจสอบที่มาของข่าวสารให้กับคนในสังคมก่อนเชื่อหรือแชร์ข้อมูลออกไปในวงกว้าง เสริมพลัง สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันของภาคีเครือข่าย เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ระบบนิเวศสื่อที่ดี


จากนั้นผนึกกำลัง 8 องค์กร ร่วมกันลงนามปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม ประกอบไปด้วย 1.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2.ผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 3.Head of Thailand and Myanmar, Friedrich Naumann Stiftung Thailand (FNST) 4.สสส. 5.ผู้แทนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 6.คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7.คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 8.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์


น. ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นำเครือข่ายประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม ดังนี้


1.ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม


2.ส่งเสริมและสนับสนุนการผลักดันนโยบายในการต่อต้านข่าวลวงในระดับประเทศและเกิดการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านข่าวลวง ทั้งในระดับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ


3.ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านข่าวลวง รวมทั้งหาแนวทางปฏิบัติต้นแบบ (Best Practice) เพื่อให้เกิดฐานความรู้และแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพลังความรู้ของสังคม


4.พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงาน และนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือ หรือกลไกเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ


5.ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิตอล (Media Information and Digital Literacy: MIDL) ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง และพัฒนาประชาชนในประเทศไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิตอล (Digital Citizen)


นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานประชุมสัมมนาสากลว่าด้วยข่าวปลอม "International Conference on Fake News" มี ผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ นักวิชาชีพ ในประเทศไทยและผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วม อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอลจากไต้หวัน นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากพรรคฟรีเดโมแครตพาร์ตี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้แทนจากสำนักข่าวรอยเตอร์ และสำนักข่าวเอเอฟพี เข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา

Shares:
QR Code :
QR Code