ผนึกกำลัง 3 องค์กร ชูนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ผนึกกำลัง 3 องค์กร ชูนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก thaihealth


 แฟ้มภาพ


"การเล่น" เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับเด็กที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ให้แก่เด็ก ประสบการณ์ที่เด็กได้จากการเล่นจะนำไปสู่การรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและผู้อื่นได้อย่างมีความสุข


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในพิธีประกาศนโยบาย"เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก" ณ โรงแรมฟอร์จูน ราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งร่วมดำเนินงานโครงการฯ โดยกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สมาคมการเล่นนานาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดร.สาธิต ปิตุเตชะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานในพิธีกล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยในทุกระดับโดยการเติมเต็มศักยภาพของเด็กปฐมวัยในเขตพื้นที่เมืองและส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตพื้นที่ทุรกันดาร ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถเป็นคนไทยคุณภาพในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สมาคมการเล่นนานาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานโครงการ "เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก" เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยไทย ผ่านการเล่นที่เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กปฐมวัย ดำเนินงานตามแนวคิด "เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก Model" ซึ่งเป็นการเล่นรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นด้วย Concept 3F ได้แก่ Family Free Fun เล่นอิสระ เล่นอย่างมีความสุข เล่นสนุก เล่นกับครอบครัว เพื่อพัฒนาต้นแบบ เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ประกอบด้วย 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนา  play worker หรือผู้อำนวยการเล่น ได้แก่ ครู ผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยปรับทัศนคติการเล่นเพื่อเพิ่มทักษะด้าน SOFT SKILL ให้กับเด็ก 2. พัฒนากระบวนการเล่น เน้นอิสระ ครอบครัวมีส่วนร่วม 3. พื้นที่เล่น (play space) ให้เป็นพื้นที่เล่นสร้างสรรค์ ตามบริบทพื้นที่ (space) สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ต้องกระตุ้นการเรียนรู้ บรรยากาศในการเล่น ความรักและความอบอุ่น สถานที่ปลอดภัย (Safety) และเข้าถึงได้ง่าย (Accessibility) และ 4. การสร้างหน่วยบริหารจัดการการเล่นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน


"ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ที่ได้รับการพัฒนาครบ 4 องค์ประกอบ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในพื้นที่นวัตกรรมนำร่อง 20 จังหวัด และพัฒนาต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกในศูนย์พัฒนาเด็กในพื้นที่เขตสุขภาพ จำนวน 12 แห่ง ภายในเดือนมีนาคมนี้ และขยายจนครบทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศภายในเดือนกันยายน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว


แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โดยธรรมชาติเด็กทุกคนต้องการการเล่น และเล่นอย่างมีอิสระ โดยที่เด็กเป็นคนออกแบบเอง เมื่อเด็กได้เล่น โลกภายในของเด็กจะเปลี่ยน เกิดความสุข จินตนา การเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างไร้ขอบเขต ก่อเกิดความรัก เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และสามารถออกแบบสังคมเล็ก ๆ ที่เป็นความสุขได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งการเล่นของเด็กยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีการขยับร่างกาย โดยเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นวัยที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายหรือมีกิจกรรมทางกายทั้งกับพ่อ แม่ เพื่อนหรือด้วยตนเอง สำหรับวัย 1-5 ปีควรให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน เน้นทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานเช่นการเดินวิ่งเขย่งกระโดด ทรงตัว ปีนป่ายหรือช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน  โดยพ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กได้เลือกเล่นตามความชอบเด็กก็จะเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ต้องคำนึงและดูแลความปลอดภัยของลูกในขณะเล่นด้วยสำหรับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นอายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยระดับปานกลาง เช่น ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา  ส่วนแบบหนัก เช่น วิ่งเร็ว กระโดดสูง ว่ายน้ำเร็ว การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ หรือวิ่งเล่นอิสระ


"การเล่นของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษามีความสำคัญและมีคุณค่า เพราะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ที่เหมาะสมคือการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการเรียนรู้อย่างมีความสุข" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ทางด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี วิถีชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขันสูง เด็กถูกคาดหวังและ บีบคั้นให้แข่งขัน ด้านการศึกษา ต้องติวเข้ม เพื่อเข้าเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย และมักใช้เวลากับสื่อออนไลน์มือถือ แท็บเล็ต ไม่ต่ำกว่าวันละ 3-4 ชั่วโมง ทำให้การเล่นอิสระหรือเล่นอย่างธรรมชาติน้อยลง ประกอบกับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในสังคมไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของการเล่นอิสระ สสส.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก ทุกช่วงวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กปฐมวัย จึงสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กและภาคีเครือข่ายการเล่น จนเกิดองค์ความรู้เรื่องการเล่นอย่างอิสระ.

Shares:
QR Code :
QR Code