ผนึกกำลัง ร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นในกทม.
ที่มา: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แฟ้มภาพ
เฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์และข้อแนะนำในการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นละอองผ่านเว็บไซด์กรมควบคุมมลพิษและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ปัญหาของฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากยานพานหะ
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าว สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 กทม. และการดูแลสุขภาพประชาชน
นายวิจารย์ สิมาฉายา กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่มีการติดตามตรวจสอบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบเกินค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (มาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาสถานการณ์เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์และข้อแนะนำในการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นละอองผ่านเว็บไซด์กรมควบคุมมลพิษและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ปัญหาของฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากยานพานหะ ซึ่งจากสถิติการจดทะเบียนรถสะสมใน กทม. ปี 2560 มีจำนวน 9,778,661 คัน สำหรับแหล่งกำเนิดอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม การเผา ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่เป็นช่วงรอยต่อฤดูกาล ทำให้สภาพอากาศนิ่ง มีหมอกมาก ความชื้นสูง ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้ฝุ่นละอองสะสมในบรรยากาศและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้แก่ การติดตามตรวจสอบ PM2.5 และรายงานข้อมูลสู่สาธารณะ การคาดการณ์และแจ้งเตือนประชาชน ให้ความรู้/สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชน ขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลงดการเผา 30 วันช่วงเกิดสถานการณ์ ตั้งจุดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายร่วมกับ บก.จร. 18 จุดตรวจวัด การเข้มงวดการตรวจสภาพรถโดยสาร/ตรวจสอบตรวจจับ (ขนส่ง) และที่สำคัญขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐเอง ภาคเอกชน และประชาชน ควบคุมฝุ่นจากกิจกรรมการก่อสร้าง ควบคุมการระบายมลพิษจากอุตสหากรรมดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี และลดการนำยานพาหนะส่วนบุคคลเข้าในเขต กทม. (Carpool) การงดการเผาขยะ ใบไม้ กิ่งไม้ โดยคาดว่าผลจากการดำเนินมาตรการข้างต้นจะส่งผลให้ระดับของฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และติดตามสภาวะอากาศ เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นอองและแจ้งเตือนประชาชน รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ