ป้องกันเหตุร้ายผู้สูงวัยอยู่บ้านลำพัง

ที่มา : ไทยโพสต์


ป้องกันเหตุร้ายผู้สูงวัยอยู่บ้านลำพัง  thaihealth


แฟ้มภาพ


เหตุการณ์ฆ่าชิงทรัพย์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้สูงวัยหลายคนรู้สึกผวา โดยเฉพาะหากต้องอยู่เพียงลำพัง และยิ่งมีทรัพย์สินจำนวนมาก อีกทั้งบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างไกลเพื่อนบ้าน ก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นไปอีก เพราะทุกวันนี้ คนที่รู้หน้ามักไม่รู้ใจ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง รวมถึงเรื่องของยาเสพติดที่ระบาด อาจกระตุ้นการก่อเหตุอาชญากรรมได้ค่อนข้างง่าย


ผอ.พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลตัวเองในสังคมผู้สูงวัยว่า “การป้องกันอุบัติเหตุหรือเหตุอาชญากรรมนั้น ครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุต้องมีการ “วางแผนล่วงหน้า” กรณีที่รับคนเข้ามาทำงานบ้าน โดยต้องกำหนดระยะห่างของลูกจ้าง เช่น พื้นที่ไหนที่สามารถเข้าไปได้ และพื้นที่ไหนเป็นเขตหวงห้ามไม่ควรเข้าไป อีกทั้งต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกจ้างว่าเป็นอย่างไร ไว้ใจได้หรือไม่ หากปล่อยให้อยู่บ้านลำพัง สำหรับผู้ที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า หรือมาจากหลักแหล่งที่ไม่ชัดเจน ตรงนี้นายจ้างควรจะขอบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ และนามสกุลจริง โดยต้องถ่ายเอกสารไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากการป้องกันอาชญากรรมในคนสูงวัยอาจเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้าก่อนรับคนเข้าทำงานบ้านจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด


สิ่งสำคัญคือการเตรียมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างการ “ใช้เทคโนโลยี” เข้ามามีส่วนระงับเหตุร้ายกับคนสูงวัย เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิด, การเขียนเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเอาไว้ในที่มองเห็นได้ชัด เพื่อให้คนสูงวัยแจ้งเวลาเกิดเหตุ หรือแม้แต่ การฝากฝังให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลและเป็นหูเป็นตา ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง นอกจากนี้ สิ่งที่ลืมไม่ได้ ลูกหลานที่ออกไปทำงานนอกบ้านแล้วควรหมั่นโทรศัพท์กลับมาหาพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ว่ากำลังทำอะไรอยู่?? ขณะนั้นมีปัญหาอะไรหรือไม่?? โดยเฉพาะครอบครัวที่จ้างแม่บ้านหรือแรงงานเพื่อนบ้านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทั้งนี้ เพื่อรีเช็กว่าเหตุการณ์ภายในบ้านเป็นอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยป้องกันเหตุร้ายได้ รวมถึงการลดจุดเสี่ยงในการก่อเหตุ เช่น การซ่อมบ้านเรือนไม่ให้มีช่องหรือรูโหว่ เพื่อป้องกันไม่ให้โจรผู้ร้ายปีนมางัดบ้าน หรือการกวาดถางหญ้ารกร้างให้โล่งเตียน เพื่อป้องกันการอำพรางตัวในเวลากลางคืน อีกทั้งไม่ควรเก็บทรัพย์สินมีค่าไว้ในจุดที่ล่อตาล่อใจมิจฉาชีพ เป็นต้น


“ครอบครัวไหนที่เตรียมพร้อมด้วยอุปกรณ์ป้องกันตัว อย่าง มีด, ไม้, กระบอง ฯลฯ ตรงนี้อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการวางแผนล่วงหน้า เช่น การรับคนเข้ามาทำงานบ้าน เพราะส่วนหนึ่งสภาพร่างกายของคนสูงวัยอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ที่สำคัญให้หมั่นรีเช็กว่าพ่อแม่ ปู่ย่าตายายอยู่ดี สบายหรือไม่ หรือกำลังทำอะไรในระหว่างวัน ก็จะช่วยลดการประสบเหตุได้ดีกว่า เพราะเหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว หรือแม้แต่คนในชุมชนที่สนิทชิดเชื้อ เพราะอันที่จริงแล้วการป้องกันเหตุอาชญากรรมในผู้สูงอายุและเด็กจะทำได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเรามีวางแผนล่วงหน้าภายในแต่ละครอบครัว ก็จะทำให้สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่อาจเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยได้ดีที่สุด”

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ