ป้องกันพิการแต่กำเนิด
ที่มา : แนวหน้า
กรมการแพทย์ กระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักที่จะป้องกันความพิการแต่กำเนิดเน้นใน 4 เรื่อง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ตรงกับวันเด็กพิการโลก โดยความสำคัญของวันดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายได้ตระหนักว่าความพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง เพราะอาจทำให้เด็กมีภาวะตั้งแต่พิการและรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น จึงต้องการกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักที่จะป้องกันโดยจะเน้นใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ทำให้ประชาชนได้ตระหนักว่าปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง 2.สนับสนุนให้มีการสำรวจข้อมูลความพิการในทารกเพื่อให้รู้ถึงปัญหา 3.สนับสนุนให้มีการป้องกัน และ 4.การให้การรักษาร่วมกับการทำวิจัย
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) กล่าวว่า ความพิการแต่กำเนิดแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1.ความพิการทางด้านโครงสร้างของร่างกาย เช่น คลอดออกมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาขาด และ 2.ความพิการของการทำงานในหน้าที่และภาวะร่างกาย เช่น มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่องหรือกลุ่มโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น อย่างไรก็ตามภาวะพิการแต่กำเนิดถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข และจากการที่ WHO รณรงค์ให้ทั่วโลกเก็บข้อมูลความพิการแต่กำเนิด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยพบว่าในปี 2561 จากเด็กทารกแรกเกิด 640,919 ราย พบภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก 2.17% คิดเป็น 13,877 รายของเด็กเกิดมีชีพ
นพ.สมเกียรติกล่าวต่อว่า ความพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจแต่กำเนิด แขนขาผิดรูป ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์ ตามลำดับ ทั้งนี้ความพิการแต่กำเนิดปัจจุบันส่วนใหญ่ประมาณ 70% สามารถแก้ไขและรักษาได้ รวมถึงฟื้นฟูให้เด็กสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้การดูแลสุขภาพของมารดา การวางแผนการตั้งครรภ์ ช่วยไม่ให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย การรับประทานโฟเลตตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน การดูแลสุขภาพของมารดารวมถึงดูแลโรคต่างๆ ในมารดาที่เป็นอยู่ให้คงที่ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่างๆ ในมารดาและลดภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการใช้สารหรือยาต่างๆ ที่มีผลต่อเด็กในครรภ์ เป็นต้น