`ป่าสัก` น้อมศาสตร์พระราชา จัดการน้ำเพื่อชุมชน

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ป่าสัก' น้อมศาสตร์พระราชา จัดการน้ำเพื่อชุมชน thaihealth


ในเวทีเสวนาประเด็นปฏิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นในหัวข้อ "การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค" ภายใต้งานเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ศาสตร์ของพระราชากับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เพื่อจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจน้อมนำศาสตร์ของพระราชาสู่การปฏิบัติสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ร่วมปฏิรูปประเทศไทย


ผศ.ดร.พีรพงษ์ บุญสวัสดิ์กุลชัย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดเวทีว่า ศาสตร์ของพระราชา เป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนและสังคมตามหลักการองค์ความรู้ 6 มิติได้แก่ น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและสภาพของปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเรื่อง "น้ำ" เป็นหนึ่งในเรื่องที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยทรงคิด ค้นวิธี และริเริ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำเกือบ 5,000 โครงการ เพื่อเป็นแนวทางแก่ประชาชนไทยให้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน


การจัดเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นฯ ในปีนี้ สนับสนุนการน้อมนำศาสตร์พระราชา "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ที่อยู่คู่คนไทยมาตลอด 70 ปี มาเป็นทิศทาง วิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความสุขและความยั่งยืนในระดับสากล ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาวะ สำหรับการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค มีเครือข่ายหลายพื้นที่ที่จัดการได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ตำบลป่าสัก จ.เชียงราย ที่นำการปลูกหญ้าแฝก ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช รัชกาลที่ 9 รวมถึงการร่วมกันจัดการน้ำ และประเด็นต่างๆ ในชุมชน ผ่านการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน มาปรับใช้กับพื้นที่จนเป็นรูปธรรม


'ป่าสัก' น้อมศาสตร์พระราชา จัดการน้ำเพื่อชุมชน thaihealth


นายศุภสัณห์ วิริยะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เผยการดำเนินงานด้านการจัดการน้ำในพื้นที่ว่า ตำบลป่าสัก เป็นพื้นที่ลาดภูเขา อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขงระยะทาง 8 กิโลเมตร ทำให้หลายคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากตำบลป่าสักได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเปิดโอกาสให้นักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุน มีการจัดเก็บภาษีเป็นรายได้หลักของพื้นที่ แต่ไม่มีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ เกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการใช้น้ำ


นายศุภสัณห์ อธิบายต่อว่า จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเกิดจากการได้ร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กับ สสส. ทำให้เกิดต้นทุนต่าง ๆ มากมายที่นำไปสู่การจัดการพื้นที่ให้น่าอยู่ โดยเฉพาะต้นทุนทางความคิดผ่านการแลกเปลี่ยนจากเพื่อนเครือข่ายต่างพื้นที่ไม่เพียงแต่เรื่องของการจัดการน้ำเท่านั้นแต่ครอบคลุมทุกประเด็นในชุมชน ซึ่งในประเด็นเรื่องการจัดการน้ำได้นำหลักการนำชุมชนเป็นตัวตั้ง โดยจัดตั้งคณะกรรมการจัดการฝาย และจัดตั้งกองทุนสมาชิกประปาหมู่บ้านเพื่อบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคในชุมชนให้เท่าเทียม และทั่วถึงทุกฝ่าย รวมถึงดูแลควบคุมคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพ


'ป่าสัก' น้อมศาสตร์พระราชา จัดการน้ำเพื่อชุมชน thaihealth


ส่วนสำคัญคือ การน้อมนำทฤษฎีการจัดการน้ำตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 โดยการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ สอดคล้องกับพื้นที่ของตำบลที่มีภูเขา หญ้าแฝกจะช่วยลดความรุนแรง และความเร็วของน้ำเสริมความมั่นคงแข็งแรงตามแนวตลิ่ง ฝายกั้นน้ำ ทางระบายน้ำ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ดินถล่ม และเมื่อเราดูแลทรัพยากรต้นทางของน้ำได้ดี ผนวกกับการจัดการในพื้นที่ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำในชุมชนไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป


"มีหลายโครงการ หลายพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย หากสามารถน้อมนำมาปรับใช้ให้ตรงกับบริบทของพื้นที่เชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนได้แน่นอน" นายศุภสัณห์ กล่าวทิ้งท้าย


คนเมืองทั่วไปอาจนึกถึงน้ำในรูปแบบที่เป็นเครื่องดื่ม หรือน้ำประปา แต่สำหรับชาวบ้านหรือเกษตรกร "น้ำ" มีความหมายมากกว่านั้น โดยเฉพาะการเพาะปลูกที่จำเป็นต้องอาศัยน้ำในการเจริญเติบโต "การจัดการน้ำในชุมชน" จึงเป็นต้นทางของการป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำที่ทุกชุมชนควรมี

Shares:
QR Code :
QR Code