ปี 61 คนไทยเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 3.87 หมื่นราย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ปี 61 คนไทยเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 3.87 หมื่นราย  thaihealth


ปลัด สธ.เผยข้อมูลบริการยาและเวชภัณฑ์ ปี 2561 ดูแลคนไทยเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 3.87 หมื่นราย แยกเป็นยาบัญชี จ.(2) กลุ่มจำเป็นที่มีราคาแพง กว่า 32,500 ราย ยากำพร้า/ยาต้านพิษ 5,312 ราย ประหยัดงบกว่า 8.56 พันล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ เปิดเผยว่า การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นของผู้ป่วย เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่ง สธ. โดยโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วางระบบการเข้าถึงยาและการชดเชยยา ระบบการจัดเก็บข้อมูลคุณภาพด้านยา รวมถึงการจัดให้มีระบบการตรวจสอบการใช้ยาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาราคาแพงตามความจำเป็น โดยไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวและหน่วยบริการ


"ในปีงบประมาณ 2561 เป็นปีแรกของการดำเนินการตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ที่มอบให้ รพ.ราชวิถี เป็นแม่ข่ายดำเนินการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนแก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากข้อมูลการบริการยาและเวชภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2561 มีผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นในระบบ จำนวน 32,528 ราย โดยยาราคาแพงหรือยาบัญชี จ. (2) จำนวน 21 รายการ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย 29 กลุ่มโรค เป็นผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 16,829 คน และผู้ป่วยรายเก่ารับยาต่อเนื่อง จำนวน 15,699 คน" นพ.สุขุมกล่าว


ปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับรายการยาบัญชียา จ (2) ที่ผู้ป่วยเข้าถึงสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) เพื่อรักษา ผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานที่มีจอประสาทตาบวม จำนวน 10,994 ราย ยาเลโทรโซล (Letrozole) รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม จำนวน 8,543 ราย ยาโบทูลินั่ม ท็อกซิน ชนิดเอ (Botulinum toxin type A) ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก จำนวน 3,743 ราย ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน (Peginterferon) ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี จำนวน 1,857 ราย และยาโดซีแทคเซล (Docetaxel : DTX) ในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม มะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 1,595 ราย


ส่วนการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ นพ.สุขุม กล่าวว่า ปี 2561 มีผู้ป่วยที่เข้าถึงยากำพร้าหรือยาต้านพิษ จำนวน 5,312 ราย โดยเข้าถึงเซรุ่มแก้พิษงูกะปะมากที่สุด จำนวน 1,889 ราย รองลงมา คือ เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ จำนวน 1,527 ราย เซรุ่มต้านพิษงูรวมระบบโลหิต จำนวน 870 ราย เซรุ่มรวมระบบประสาท (Polyvalent antivenum for neurotoxin) จำนวน 189 ราย และเซรุ่มต้านพิษแก้พิษงูแมวเซา จำนวน 144 ราย


"สำหรับภาพรวมการบริหารจัดการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนยาบัญชี จ. (2) ในช่วง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2561 สามารถช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา จำนวน 101,000 ราย ส่วนยากำพร้าและยาต้านพิษ ตลอดระยะ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2561 ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา จำนวน 32,098 ราย ขณะที่มูลค่ายาที่ภาครัฐประหยัดงบประมาณจากการบริหารจัดการด้านยานี้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2560 เป็นจำนวนเงินถึง 44,430.84 ล้านบาท โดยในปี 2560 ประหยัดได้ถึง 8,567.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ายาที่ประหยัดมากกว่าปีที่ผ่านมาทั้งหมด" นพ.สุขุมกล่าว และว่า ความสำเร็จนี้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยบริการทั่วประเทศ และภาคประชาชน


ขณะนี้มีหลายประเทศได้มาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปเป็นแนวทางดำเนินการดูแลสุขภาพประชากรในประเทศของตนเอง

Shares:
QR Code :
QR Code