ปี 60 เตือน ‘4 โรค 2 ภัยสุขภาพ’
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรคพยากรณ์ปี60 ระวัง 4 โรค-2 ภัยสุขภาพ ไข้หวัดใหญ่ยังน่าห่วงคาดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 59
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว เรื่อง “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ พ.ศ.2560” ว่า คร.คาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2560 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมี 4 โรคสำคัญ 2 ภัยสุขภาพ ได้แก่
1.โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 57,425 ราย เสียชีวิต 55 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต อายุ 7–14 ปี การพยากรณ์ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ตลอดทั้งปีประมาณ 37,500 ราย ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดสูง ใน 36 จังหวัดจึงขอเชิญชวนประชาชนชาวร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
2.โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี2559 จังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการระบาดเป็นวงกว้างมี 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต อยุธยา และพะเยา ซึ่งประเมินความเสี่ยงรายจังหวัด โดยพิจารณาจากอัตราป่วยเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด ประชาชนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ด้วยการ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
3.โรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 75,796 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นเด็กเล็กอายุ 9 เดือน–5 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก พบบ่อยในช่วงฤดูฝน และพบเป็นการระบาดแบบปีเว้นปี ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 42,000 ราย โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง และอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนวิธีป้องกันคือรักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
และ 4.โรคเมลิออยโดสิส จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 3,171 ราย เสียชีวิต 6 ราย จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล การสำลักหรือกลืนน้ำ หรือหายใจเอาละอองฝุ่นของดินที่มีเชื้อปนเปื้อน ส่วนอาการมีตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือมีจุดที่ปอดแต่ไม่แสดงอาการ จนถึงมีฝีที่ผิวหนัง ฝีที่อวัยวะภายใน เนื้อเยื่อปอดอักเสบตาย หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต คำแนะนำผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำ เช่น ในนาข้าว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรคชุกชุม ประชาชนทั่วไปควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือหากจำเป็นต้องรีบทำความสะอาดหลังเสร็จงานทันที
สำหรับ 2 ภัยสุขภาพ ได้แก่ 1. ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยตั้งแต่ปี 2551-2559 พบผู้ป่วยหมดสติขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส รวมทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ทุกเหตุการณ์เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มีเครื่องหมายมอก. ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างเดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี และมีหลายเหตุการณ์ที่มีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคนและผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเป็นผู้ที่อาบน้ำในลำดับหลังๆ ในปี 2560 คาดว่าในช่วงฤดูหนาว เดือนม.ค.-ก.พ. ประชาชนต้องระมัดระวัง
และ 2.การเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจ ในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน จากข้อมูลปี 2557-2559 พบผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีแนวโน้มสูงในเดือนธ.ค.–มี.ค. โดยมีผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 8,000–8,500 ราย ปี 2560 คาดว่าช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ของทุกปี เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางภาคเหนือซึ่งจะอุณหภูมิต่ำและมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ที่มีการพยาการณ์ว่าโรคไข้หวัดใหญ่จะมีจำนวนผู้ป่วยในปี 2560 มากกว่าปี 2559 ถึง 2 เท่านั้น เนื่องจากในช่วงปลายปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวนมากจากการที่เป็นช่วงฤดูหนาว จึงเป็นธรรมชาติที่ในช่วงปีหน้าจะมีผู้ป่วยสูงด้วย ส่วนโรคเมลิออยโดสิสที่ปกติจะมีพบผู้ป่วยไม่มาก แต่ในปี 2559 พบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนๆ จึงจำเป็นต้องนำมาเตือนในปี 2560 สำหรับภัยเรื่องเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส หากห้องน้ำมีพื้นที่แคบ มีช่องระบายอากาศเล็ก หรือไม่มี/ไม่เกิดพัดลมดูดอากาศ จะทำให้ปริมาณแก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์สูงอย่างรวดเร็วและพบปริมาณออกซิเจนต่ำ เม็ดเลือดแดงจะจับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดอากาศหายใจ มีอาการหมดสติ อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากไปในรีสอร์ทที่มีเครื่องทำน้ำร้อนแบบนี้และไม่มีพัดลมดูดอากาศ แนะนำว่าไม่อาบน้ำหรืออาบให้เสร็จภายใน 10 นาที และห้ามเปิดประตูห้องน้ำเพราะจะทำให้คนอื่นที่อยู่ในห้องพักได้รับอันตรายไปด้วยแม้จะไม่ได้เข้าห้องอาบน้ำ