ปี 52 สสส. หนุนเยาวชนเล่นกีฬา
สร้างเสริมสุขภาพให้ดีงามทั้งกายใจ
การสร้างเสริมสุขภาพให้ดีให้งามไม่ว่าจะทั้งร่างกายทั้งจิตใจในทางตรงเลยก็คือการกีฬา
ดังที่มักจะได้ยินคำว่า “กีฬาเป็นยาวิเศษ” คนเล่นกีฬาทำให้ร่างกายแข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรงย่อมทำให้สุขภาพกายดีมีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือนได้ง่าย การเป็นนักกีฬาย่อมจะได้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยการรู้แพ้รู้ชนะควบคู่กันไปด้วย
นี่คือการสร้างเสริมสุขภาพใจให้แข็งแกร่งในด้านของความดีงาม โดยยึดมั่นอยู่ในหลักคุณธรรม อันได้แก่การไม่เห็นแก่ตัวไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่คดโกง ไม่แก่งแย่งในทางที่ผิดทำนองคลองธรรม
กระบวนการดังกล่าว ถ้าหากว่ามีการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้คนในสังคม โดยเริ่มตั้งแต่เยาวชนให้ได้มีโอกาสได้ใช้เวลาไปในการเล่นกีฬา หรืออย่างน้อยใช้เวลาว่างไปในการออกกำลังกาย
นอกจากจะทำให้ร่างกายจิตใจของผู้ดำเนินการดังกล่าว จะแข็งแกร่งทั้งกายและใจแล้ว ยังมีผลให้สังคมแข็งแกร่งในด้านของความสุขความสงบ อีกทั้งยังสามารถที่จะช่วยให้เกิดการประหยัดในด้านเศรษฐกิจได้ปีละมากมายมหาศาล
ด้วยตระหนักถึงผลพวงดังกล่าว ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามที่รัฐบาลไทยมีนโยบายเรื่องการเก็บภาษีสรรพสามิตในหมวดสุรา และยาสูบ หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีบาป” มาสนับสนุนการดำเนินการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2552 นั้น
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องภาษีบาปได้จัดสรรงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมโดยภาพรวมของ สสส.ประจำปี 2552 และจากการหารือกับคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และจัดสรรงบประมาณ
ได้ข้อมูลสรุปว่าจะจัดสรรงบฯ 10 เปอร์เซ็นต์ของภาษีบาปทั้งหมด หรือประมาณ 200 ล้านบาท มาดำเนินกิจกรรมด้านกีฬาในปี 2552 เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมการออกกำลังกายในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 11-18 ปี ให้มากขึ้นกว่าปี 2551 ที่มีผู้ออกกำลังกายคิดเป็นร้อยละ 29.6 หรือประมาณ 16 ล้านคน
“โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าปี 2552-2554 กลุ่มเยาวชนไทยต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 32 หรือประมาณ 18 ล้านคน” ทพ.กฤษดากล่าว
ทพ.กฤษดากล่าวว่า สสส.ได้มีการกำหนด 4 ยุทธศาสตร์หลัก ที่จะมุ่งพัฒนาเรื่องกีฬาในปี 2552 ดังนี้
1.ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อจัดทำโครงการนำร่องให้เยาวชนไทย หันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
2.พัฒนาองค์ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย และอุปกรณ์การออกกำลังกายภายในชุมชนให้ครอบคลุมทุกชุมชน
3.ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน เช่น การจัดวิ่งเพื่อสุขภาพ, แอโรบิก, ว่ายน้ำและกีฬาไทย รวมถึงการหากิจกรรมดึงดูดให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายตามสวนสาธารณะมากขึ้น
4.เน้นการเข้าไปทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาแห่งประทศไทยเพื่อพัฒนานักกีฬาไทยมากขึ้นกว่า 10 สมาคมกีฬาที่ สสส. ให้ความร่วมมือในปัจจุบัน
การดำเนินนโยบายดังกล่าว แม้ว่าจะมองดูตัวเลขงบประมาณในการส่งเสริมสนับสนุน ที่ดูเหมือนจะสูง แต่ถ้าเทียบกับการทำให้สุขภาพกายสุขภาพใจของคนไทยดีงาม คือ แข็งแรงห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ หยุดการก่อให้เกิดปัญหาในทุกด้าน ย่อมคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
เพราะตัวเลขงบประมาณอันเกิดจากการบำบัดดูแลรักษาสุขภาพกายใจ อันเกิดจากการเอาเวลาไปทำอย่างอื่นในปีหนึ่งๆ มากมายมหาศาลนับหมื่นนับแสนล้าน แล้วสังคมยังอาจเต็มไปด้วยประชาชนที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย
ตรงข้ามกับการที่คนไทยหันมาใช้เวลาไปกับการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย โดยเฉพาะการปลูกฝังสนับสนุนตั้งแต่เยาวชนขึ้นไป ถ้าทำอย่างต่อเนื่องจริงจังสังคมจะได้ทั้งประชาชนที่มีสุขภาพกายและใจที่ดีงาม ได้ทั้งคนดีมีคุณค่าแก่ครอบครัว แก่ชุมชนและแก่ชาติบ้านเมือง
การที่มีหน่วยงานอย่าง สสส. มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการเอาใจใส่อย่างจริงจัง จึงนับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม 200 ล้านที่ สสส. จัดมาสนับสนุนเยาวชนเล่นกีฬาจิ๊บจ๊อย ถ้าเทียบกับผลที่จะเกิดแก่สังคมไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update 27-01-52