ปิดเทอมเด็กใช้เวลาไม่สร้างสรรค์ ผลตามมาสุขภาวะกาย-ใจแย่


เข้าสู่ช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ หรือที่ยังถือกันอยู่ว่าเป็นวันฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับขึ้นปีใหม่ไทยประเพณีวัฒนธรรมไทยที่ปฏิบัติกันมาเกือบพันปีคือคนไทยทุกคนหยุดภารกิจ เพื่อใช้เวลาในช่วงไม่กี่วันนี้ประกอบคุณงามความดีที่เรียกกันว่าบุญกุศล


ดีอย่างแรกตามวิถีของไทยคือทำบุญไหว้พระตักบาตรให้ทาน ดีอย่างต่อมาคือสรงน้ำพระ ดีอย่างที่สามคือกราบขอพรพ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้มีพระคุณใครที่ไปอยู่ต่างถิ่นก็ถือโอกาสนี้ไปทำความดีและกลับไปร่วมคลุกคลีกับครอบครัว


แต่มีอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างสงกรานต์นี้คือ ก่อนจะทำดีก็มักจะถูกเจ้าความชั่วเปิดประตูกวักมือเรียกเข้าไปสู่ความหายนะ คือประตูอบายมุข เริ่มกันที่น้ำเมาทุกประเภทฉลองกัน เกิดความไม่ดีก่อน คือดื่มจนขาดสตินำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน จบชีวิตซะก่อน หรืออย่างน้อยก็พิการบาดเจ็บที่สุดไม่ได้ทำดี มิหนำซ้ำทิ้งความไม่ดีไว้ให้คนข้างหลังรับกรรมด้วย ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์อาจกล่าวได้ว่าทุกจังหวัดรณรงค์เล่นสงกรานต์ไม่มีน้ำเมา อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลแล้วจึงอยากให้สติกันไว้ สงกรานต์ปลอดน้ำเมา เมาไม่ขับ เป็นต้น


ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงปิดเทอมของเด็กและเยาวชนพอดีเอแบคโพลได้สำรวจวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนเพื่อดูการใช้เวลาว่างในช่วงดังกล่าวไปกับเรื่องใด อะไรที่เป็นความเสี่ยง มีเรื่องร้ายแล้วก็มีเรื่องดีอะไรเกิดขึ้น ผลสำรวจได้พบว่า ปิดเทอมเด็กและเยาวชน 84.9% ใช้เวลาไปกับการช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า อีก 67.3% ดูโทรทัศน์/วิดีโอ ขณะที่ 62.1% เล่นอินเตอร์เน็ต และ 52.2% เล่นเกมคอมพิวเตอร์


ผลสำรวจของเอแบคโพลยังพบด้วยว่าเด็กและเยาวชนในช่วงอายุวัยแตกเนื้อหนุ่มแตกเนื้อสาวมีกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ คือการเข้าไปอยู่ในวังวนของเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทำร้ายร่างกาย และทะเลาะวิวาท


ผลสำรวจกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในช่วงปิดเทอม พบว่ามีเด็กและเยาวชนถึง 53.8% ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊ เปลือย พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนตามกระบวนการสำรวจของเอแบคโพลดังกล่าว นำไปสู่ความเลวร้ายทางด้านสุขภาวะทั้งร่างกายและจิตใจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ให้เห็นปัญหาว่า ช่วงปิดเทอมแต่ละครั้ง จบพบว่าเด็กจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 3-4 กิโลกรัม เกิดจากกิจกรรมของเด็กที่ 70-80% ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกมกินอาหารไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งปัญหาจะมีสูงในเขตเมือง เนื่องจากเด็กไม่มีกิจกรรมสร้างสรรค์ทำ ปัญหาที่ตามมาและพบบ่อยนอกจากความอ้วนยังมี สายตาสั้นเทียมฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ ติดเกมส์ นำไปสู่ความก้าวร้าว


“กิจกรรมสันทนาการสร้างสรรค์ จะช่วยด้านพัฒนาการ และสร้างเสริมต้นทุนชีวิตที่ดีของเด็กในเกือบทุกด้านทั้งพลังตัวตน พลังครอบครัว พลังปัญญาพลังเพื่อน และพลังชุมชน ซึ่งเมื่อรวมกันจะกลายเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับเด็กอย่างยิ่ง” นพ.สุริยเดว กล่าว


นพ.สุริยเดว แนะนำว่า สิ่งที่ควรทำเมื่อปิดเทอม คือ ครอบครัวร่วมกันวางแผนกิจกรรม พ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ ได้รับสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แก้ปัญหาหลายๆด้านที่จะเกิดขึ้น พ่อ แม่ ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกสลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ที่สำคัญคือ ร่วมกันกำหนดกิจกรรมที่จะทำเพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมและเกิดแรงจูงใจที่จะทำในสิ่งที่สนใจ เช่นเล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพงานศิลปะ เข้าพิพิธภัณฑ์ เข้าสู่ศาสนาทัวร์วัด เป็นต้น


ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ผู้จัดการ สสส. ชี้ว่า สสส.และเครือข่ายหวังว่าจะจุดประกายให้ครอบครัวเกิดความตื่นตัว เอาใจใส่ และจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในช่วงปิดเทอมให้เด็ก รวมทั้งหวังจะกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องซึ่งพื้นที่กิจกรรมยังเป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการ ทั้งลานกีฬา ลานสาธารณะ ลานพักผ่อน ลานดนตรีศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ www.happyschoolbreak.com


มีสติกันสักนิดเถอะป้องกันได้เวลาปิดเทอมไม่กี่วันแต่สามารถป้องกันทุกขภาวะเข้าสู่กาย-ใจเด็กแล้วลามถึงครอบครัวได้ถ้าใส่ใจ


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย นายหวังดี

Shares:
QR Code :
QR Code