ปิดช่องว่างทางสุขภาพแรงงานนอกระบบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ newsplus.co.th


ปิดช่องว่างทางสุขภาพแรงงานนอกระบบ thaihealth


แนวทางการป้องกันสุขภาพมีรายละเอียดปลีกย่อย โดยเฉพาะแรงงานแต่ละประเภทมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ กัน


ปัจจุบันมีประชากรที่มีงานทำ 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมมากถึง 21.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.6 ของผู้มีงานทำ ในปี 2559 พบว่ามีแรงงานนอกระบบในภาคเกษตรกรรมมากสุด (ร้อยละ 54.8) รองลงมาเป็นภาคการบริการและการค้าและภาคการผลิต ส่วนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน พบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษมากที่สุด ร้อยละ 60.6 รองลงมาเป็นเครื่องจักร เครื่องมือที่เป็นอันตราย ร้อยละ 21.1 และได้รับอันตรายต่อระบบหู ระบบตา ร้อยละ 4.6


นายสุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามความร่วมมือวิชาการ (MOU) ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้แทนจากแรงงานนอกระบบ เพื่อสนับสนุนและเอื้ออำนวยการนำนโยบายสู่การปฏิบัติกลุ่มแรงงานนอกระบบในเขตสุขภาพและระดับจังหวัด ว่า แรงงานนอกระบบที่ต้องดูแลหรือให้คำแนะนำเป็นพิเศษ 5 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกร แกะสลักหิน ตัดเย็บผ้า และผลิตภัณฑ์จากผ้า เก็บและคัดแยกขยะ คนขับแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ร่วมกับ สสส. และหน่วยงานเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อดูแลสุขภาพจากการประกอบอาชีพของกลุ่มแรงงาน เน้นลดความเสี่ยงและการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน รวมถึงการรักษาและฟื้นฟูหลังจากที่เจ็บป่วยหรือได้รับผลกระทบจากการทำงาน


นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในปี 2560 มีเป้าหมายครอบคลุมแรงงานทั่วประเทศ นำร่องใน 5 เขต อาทิ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันโรคที่ 5 ราชบุรี แม้ผู้อยู่ในอาชีพกลุ่มนี้จะมีสิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคมแต่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงระบบสุขภาพ เช่น คนขับรถแท็กซี่มาจาก จ.ยโสธร แต่มาเจ็บป่วยในกรุงเทพฯ ซึ่งบางคนปีหนึ่งมา 3 เดือนพอถึงฤดูทำนากลับไปต่างจังหวัด จึงขาดโอกาสเข้าถึงระบบสุขภาพ โดยจะพยายามจัดระบบเพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้ง่ายที่สุด" นายสุเทพ กล่าวและว่า ตั้งเป้ารูปแบบการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายและมีคุณภาพของกลุ่มอาชีพดังกล่าว คาดว่าจะเปิดตัวได้ในวันแรงงาน 1 พ.ค. ปีนี้


"โรคปอด เกี่ยวกับทางเดินหายใจเป็นโรคที่พบมากในกลุ่มแรงงานนอกระบบดังกล่าวหากเราควบคุมตรงนี้ได้ จะช่วยป้องกันโรคสู่สังคมในวงกว้าง ยกตัวอย่างคนขับแท็กซี่แต่ละวันมีคนใช้บริการจำนวนมาก หากคนขับแท็กซี่มีโรคดังกล่าวคนใช้บริการก็มีความเสี่ยงด้วย" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว


ด้าน นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่ รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวว่า คนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่อง โรคกระเพาะ เพราะรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ประกอบกับ ร้านอาหารที่มีสถานที่จอดรถแท็กซี่หายากขึ้นทุกวันเพราะพื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ หาได้น้อยลง โดยเฉพาะย่านใจกลางเมือง นอกจากนี้คนขับแท็กซี่ยังเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะขาดการออกกำลังกาย


ด้าน นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สสส. กล่าวว่า สสส.ได้ทำชุดความรู้ให้กรมควบคุมโรคเพื่อให้แรงงานนอกระบบ โดยได้เข้าไปศึกษาวิจัย และสร้างเครือข่ายของแต่ละกลุ่มอาชีพ เพื่อจะดูประเด็นปัญหารายกลุ่มมีอะไรบ้าง และพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่มีความสนใจ เพื่อสร้างผู้นำ จากนั้น ผลักดันเข้าสู่ระบบเขตสุขภาพทั่วประเทศ 12 เขต โดยนำร่อง 5 เขตสุขภาพ ทั้งการพัฒนา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มีความรู้ทางวิชาการดูแลสุขภาพในกลุ่มอาชีพดังกล่าว กระตุ้นองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เห็นความสำคัญในการดูแลอาชีวอนามัย และสุดท้ายผลักดันให้ไปอยู่ในนโยบายของกรมควบคุมโรค


"ปัจจุบันระบบการรักษาสุขภาพก้าวหน้าไปมาก แต่ระบบการป้องกันโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมของคนต้องใช้องค์ความรู้และประสานความร่วมมือกัน" นางอรพิน ทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code