ปากนกกระจอกสังเกตง่ายรักษาได้
ที่มา : SOOK Magazine No.74
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
หลายคนอาจเคยเป็นหรือได้ยินชื่อ “โรคปากนกกระจอก” สังเกตุจากแผลที่มุมปากอย่างชัดเจนซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โรคนี้แม้ไม่ร้ายแรงและสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ควรหมั่นสังเกตตนเองเพื่อให้รับมือกับโรคได้อย่างถูกวิธี
โรคปากนกกระจอก
ปากนกกระจอก (Angular Cheilitis) เป็นภาวะอักเสบบริเวณมุมปาก แสดงอาการในลักษณะแผลเปื่อย เจ็บปาก อาจมีรอยแดง บวม ตึงที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง แม้ไม่ใช่โรคติดต่อไม่ร้ายแรง สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอก
อาการปากนกกระจอก
สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้างเดียวและสองข้าง อาการต่าง ๆ จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล สามารถสังเกตได้ดังนี้
– แผลเปื่อยแตกเป็นร่องที่มุมปาก
– เจ็บ คันระคายเคืองมุมปาก
– เกิดรอยแดงและเลือดออก
– มีตุ่มพองและของเหลวด้านใน
– เกิดสะเก็ดแผล
– ปากบวม ลอก แห้ง แตก ตึง
อาการต่าง ๆ ล้วนส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง เนื่องจากกินลำบากมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดเชื้อราที่ผิวหนังหรือแผลติดเชื้อแบคทีเรีย ลุกลามไปรอบ ๆ บริเวณที่เกิดโรคปากนกกระจอกได้
การป้องกันปากนกกระจอก
– กินอาหารที่มีวิตามินบี อาทิ ปลา ตับ ถั่ว นม ฯลฯ
– กินอาหารที่มีธาตุเหล็ก อาทิ เนื้อแดง ใบกะเพรา หอย ไข่แดง ธัญพืช
– เลิกนิสัยชอบเลียมุมปาก ไม่กัดหรือเลียริมฝีปาก เมื่อแห้งหรือแตก
– งดผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคือง ที่ริมฝีปากอย่างลิปสติก ยาสีฟัน
– ทาปากด้วยลิปบาล์มเพื่อความชุ่มชื้นของผิว ลดอาการปากแห้งและการระคายเคืองทางผิวหนัง
– ไม่ใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับ ดูแลความสะอาด อยู่เสมอ
– งดสูบบุหรี่
เรื่องต้องรู้ ห้ามใช้ลิ้นเลียมุมปากที่มีแผลจะยิ่งทำให้แผลแห้งและตึงยิ่งกว่าเดิม เมื่อต้องอ้าปากกว้างๆ มีโอกาสเลือดออกได้ อาการของโรคปากนกกระจอกที่บ่งบอกว่ารุนแรง คือ มีเลือดออก ถ้าเป็นโรคปากนกกระจอกบ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา จะเกิดแผลเป็นบริเวณมุมปาก ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมของการเกิดโรคซ้ำ