ปั้นผู้ให้คำปรึกษา ลดปัญหาความรุนแรงซ้ำซาก
อึ้ง! หญิงไทยเผชิญปัญหาความรุนแรงซ้ำซาก สสส.-คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เร่งปั้นผู้ให้คำปรึกษา เชิญนักจิตวิทยาระดับโลกติวเข้ม เน้นมิติสังคม-การวิจัย-ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นธรรม ช่วยผู้ประสบเหตุ เกิดความเข้าใจ-เข้มแข็ง ลดการเผชิญเหตุซ้ำ
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ รร.เอส.ดี.อเวนิว ในงานบรรยายสาธารณะ “ความเป็นธรรมทางสังคมในงานจิตวิทยาการปรึกษา” ดร.แคธรีน นอร์สเวอร์ธี จากโรลลินส์ คอลเลจ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา นักวิชาชีพด้านจิตวิทยาการปรึกษา กล่าวว่า แนวโน้มจิตวิทยาการปรึกษามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดจากยุคแรกเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปมภายในจิตใจของตัวบุคคล ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแนวคิดที่ให้ความสนใจกับโครงสร้างทางสังคม การให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหา นอกจากเข้าใจปัญหาภายใน ต้องคำนึงถึงระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและบริบททางสังคม รวมถึงเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ยั่งยืน ลดการเผชิญเหตุซ้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาต้องทำให้ผู้ประสบเหตุเห็นศักยภาพภายในตัวเอง และเข้าใจถึงระบบต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของความรุนแรง นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อสร้างวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมและตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ไทยไม่มีการเก็บสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ชัดเจน เพราะผู้ประสบเหตุแจ้งความว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัวน้อย แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าหญิงไทย 44% ในช่วงชีวิตอาจเจอความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ขณะที่การติดตามการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพให้การปรึกษาที่ผ่านการอบรม “การปรึกษาเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ” ทั้ง 5 รุ่น รวม 100 คน ทั้งนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลในศูนย์พึ่งได้ นักจิตวิทยาและเอ็นจีโอ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบเหตุ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ท้องไม่พร้อม ติดเชื้อเอชไอวี พบว่า สามารถทำงานได้อย่างดี แต่มักให้ความสนใจกับวิธีคิด ความขัดแย้งในจิตใจ และพฤติกรรมของผู้รับบริการ ขาดมิติมุมมองเชิงสังคม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและต้องมีวิธีการทำงานที่เอื้อให้ผู้ประสบปัญหาเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจองค์ประกอบและสาเหตุเชิงโครงสร้างของปัญหา เพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพจนเกิดความเข้มแข็ง จัดการปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องประสบเหตุซ้ำๆ
“นอกจากนี้พบว่า การให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องยาก เพราะความสัมพันธ์ของคู่รัก สามีภรรยามีความละเอียดอ่อน เข้าไปแทรกแซงลำบาก เมื่อให้คำแนะนำแล้วมักกลับมาปรึกษาเรื่องเดิมซ้ำอีก หลังการบรรยายนี้ สสส. จะจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การปรึกษาในภาวะวิกฤตสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” เน้นการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะ ทั้งในแง่บริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของปัญหา วิเคราะห์การกดขี่และความรุนแรงบนฐานเรื่องเพศ จิตวิทยาของผู้กระทำความรุนแรงเพื่อทำความเข้าใจสภาพชีวิตของผู้ถูกกระทำ รูปแบบความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เป็นฐานของความรุนแรง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาระบบให้คำปรึกษาประเด็นความรุนแรงในครอบครัวของไทย” ดร.วราภรณ์ กล่าว
ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข