‘ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม’ เรียนรู้อย่างมีความสุข

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์


'ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม' เรียนรู้อย่างมีความสุข thaihealth


'ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม' เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับ 'ปิดเทอมสร้างสรรค์'


การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนานควบคู่กับการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หากนำ "สิ่งใกล้ตัว" มา "ตั้งคำถาม" หรือ "ตีความ" ในมุมใหม่ ดังเช่นกิจกรรมช่วงปิดเทอมของ โรงเรียนบ้านนาสีนวล และ โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัว จ.สกลนคร ที่นำ "ดิน" มาเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่ โครงการฮักบ้านเกิด และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการ ปิดเทอมสร้างสรรค์


นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. เปิดเผยว่า สสส.มีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ซึ่งเป็นสำนักที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้คิด ริเริ่มกิจกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างสุขภาวะของคนในแต่ละบริบทชุมชน โดยกิจกรรม "ปิดเทอมสร้างสรรค์" เปิดให้คนในชุมชนหรือเยาวชนที่สนใจได้ทำกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และส่งเสริมการใช้เวลาว่างที่เกิดประโยชน์ ซึ่งปี 2561 นี้จะมีการเปิดรับการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 400 โครงการด้วย


กิจกรรม "ปั้นคนปั้นดิน" เป็นไอเดียของ ครูชินกร พิมพิลา ที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมชวนเด็กนักเรียนชั้น ป.6 ทั้งหมดช่วยกันหาคำตอบว่า เศษไหและภาชนะโบราณที่ค้นพบในทุ่งนาหลังชุมชนบ้านนาสีนวลนั้นมาจากไหน มีที่มาอย่างไร? จากนั้นจึงเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้วิธีการเตรียมวัตถุดิบและการปั้นดินเป็นภาชนะหรือข้าวของต่างๆ ตามจินตนาการ


'ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม' เรียนรู้อย่างมีความสุข thaihealth


"เริ่มต้นจากเด็กๆ แบ่งกลุ่มกันออกไปค้นหาคำตอบในหมู่บ้านของตนเอง ทั้งการวาดแผนที่ชุมชน สอบถามประวัติชุมชนจากคนเฒ่าคนแก่ รวมถึงลงพื้นที่สำรวจหาโบราณวัตถุซึ่งพบทั้งเศษไหและกำไลเหล็กจำนวนมาก แล้วนำข้อมูลทั้งหมดเชื่อมต่อเสมือนจิ๊กซอว์ ประกอบกับในชุมชนมีโรงทำอิฐจึงชวนเด็กๆ ไปดูงาน ทำให้ทราบว่าเขาใช้ดินทามจากแม่น้ำสงครามเป็นวัตถุดิบ ทำให้อิฐแข็งแรงไม่แตกหักง่ายเหมือนดินที่อื่นๆ" ครูชินกรเล่า


งานนี้มีคู่ซี้ "แบ๊ก ด.ช. อภิชัย บุญมี – บิว ด.ช.ปุญธิชัย ตอจับต้น" เด็กนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านนาสีนวล ร่วมเล่าประสบการณ์การลงพื้นที่สำรวจชุมชน พร้อมค้นพบเศษซากไหและกำไลโบราณจำนวนมาก แสดงว่าชุมชนนี้มีผู้อาศัยมาหลายร้อยปีแล้ว ตลอดจนการดูงานที่โรงอิฐทำให้ทั้งคู่ทราบกลวิธี เพิ่มคุณภาพให้ชิ้นงานมากขึ้น


"ครั้งแรกเอาดินมาย่ำเพื่อเตรียมดินปั้น พอปั้นเสร็จเอาไปเผาก็แตกหมด แต่พอได้ไปดูที่โรงอิฐจึงรู้ว่าเราต้องผสมดิน น้ำ และขี้เถ้า นวดให้ดินเหนียวกำลังดีก่อน ก่อนเผาก็ต้องเอาไปตากให้แห้งก่อน" แบ๊กเล่า ส่วนบิวบอกว่า เวลาเผาจะใช้แกลบค่อยๆ เผาให้ร้อน เสมือนการเผาอิฐ คิดว่าชิ้นงานคงไม่แตก รวมถึงอยากไป "บ้านเชียง" เพื่อดูว่าภาชนะโบราณจะมีหน้าตาเช่นเดียวกับที่พบในหมู่บ้านตนหรือไม่


ด้านกิจกรรม "เป็ดยิ้ม" ของ โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัว เกิดจาก ครูอาทิตยา อ่อนสุระทุม ผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อนำไข่มาเป็นอาหารกลางวัน เปลี่ยนโฉมไข่เป็ดแสนธรรมดาให้เป็นไข่เค็มแสนอร่อย ด้วยการนำ "ดินจากแม่น้ำสงคราม" ซึ่งไหลผ่านพื้นที่หลายอำเภอของสกลนคร มาพอกเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ


'ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม' เรียนรู้อย่างมีความสุข thaihealth


ครูอาทิตยา เล่าว่า การทำไข่เค็มของเด็กๆ สามารถบูรณาการการเรียนรู้ไปกับวิชาอื่นได้ ทั้งภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เรื่องการชั่งตวงวัด รวมถึงเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังจากนี้เด็กๆ จะนำผลผลิตหรือไข่เค็มของพวกเขาไปขายยังตลาดนัดชุมชนซึ่งอยู่หน้าโรงเรียนทุกวันพฤหัสบดี


โดยการขายทำให้เขาได้ทักษะการพูดจา เรียนรู้การคิดคำนวณบวกลบกำไร มีทักษะในการประกอบอาชีพ เรียนรู้กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ แต่สิ่งสำคัญคือ ทำให้เขารู้สึกรักในคุณค่าและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำสงครามที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้


"ได้คุยกับครูชินกรว่า ต่อไปทุกวันศุกร์จะเปิดตลาดนัดสำหรับเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านนาสีนวล นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนเองไปขาย และจะมีการนำเด็กจากทั้ง 2 โรงเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆ ระหว่างกันและกันเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้นด้วย" ครูอาทิตยากล่าว


'ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม' เรียนรู้อย่างมีความสุข thaihealth


ทั้ง 2 กิจกรรมดังกล่าวล้วนเกิดจากการนำสิ่งใกล้ตัวมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นั่นคือ การเป็นชุมชนที่ผูกผันกับแม่น้ำสงครามมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความภาคภูมิใจ ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด ที่สำคัญยังเป็นการเรียนรู้แบบไม่สิ้นสุด เพราะเด็กๆ ของ "โรงเรียนบ้านนาสีนวล" ไม่ได้หยุดความอยากรู้ไว้แค่ทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน แต่ยังขยายความสนใจไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง พัฒนาทักษะฝีมือการปั้นดินและการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม เพื่อพัฒนาผลงานให้มีความสวยงามขึ้น ขณะที่เด็กๆ ใน "โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัว" ต่างรอเวลาและตื่นเต้นที่จะนำไข่เค็มออกสู่ท้องตลาด ผสมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนเกิดเป็นไข่เค็มห้วยหลัวที่มีรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการขายไข่เป็ดธรรมดาๆ


ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนการเปิดโลกกว้างการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมต่อยอดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และไม่จบอยู่แค่เพียง "ช่วงปิดเทอม" อีกต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code