ปั่นจักรยานลดโลกร้อน
รู้ไหมว่า..เราทุกคนมีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมที่เราทำอยู่เป็นประจำวันทุกวันแทบทุกขั้นตอนของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดไฟ การหุงต้มการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือกระทั่วการเดินทางไปทำงาน และกลับบ้าน
กิจกรรมเหล่านั้นล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จนเกิดการสะสมความร้อนที่ชั้นบรรยากาศผิดโลกและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เรียกโดยรวมว่าภาวะโลกร้อน ที่นำมาสู่การเสียสมดุลของระบบนิเวศที่รองรับและเอื้อต่อการดำรงชีวิตของชีวิตต่างๆ บนโลก
อุณหภูมิเฉลี่ยที่เปลี่ยนแปลงเพียงสองถึงสามองศาเซลเซียสจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกที่เราอาศัยและมีผลต่อการคุกคามชีวิตของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก
แต่ฟังแล้วอย่าเพิ่งท้อถอย…เพราะเราทุกคนสามารถช่วยหยุดภาวะโลกร้อนได้!
และเป็นไปได้ด้วยวิธีการที่ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน!
เราทุกคนสามารถช่วยหยุดภาวะโลกร้อนได้ด้วยการร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 350 ส่วนในอากาศล้านส่วน
ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 350 ส่วนในอากาศล้านส่วนนี้ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก และเป็นระดับความเข้มข้นที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทั่วโลก
ดร.เจมส์ แฮนเซน แห่งนาซ่า ระบุว่าถ้าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศถูกควบคุมให้อยู่ที่ระดับ 350 ส่วนในอากาศล้านส่วนหรือต่ำกว่าได้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะไม่เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดยความเข้มข้นของก๊าซนี้ในชั้นบรรยากาศที่เดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ 392 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งสูงกว่าระดับที่ ดร.เจมส์ และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากระบุว่าปลอดภัย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและทั่วโลก เพื่อดึงระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 350 ส่วนในอากาศล้านส่วนให้ได้ และโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย
‘การเดินทาง’ เป็นปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และยังเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพของทั้งผู้เดินทางและชุมชนที่มีเส้นทางการเดินทางผ่าน
ดังนั้นการเปลี่ยนวิธีการเดินทางนั่นเอง เป็นหนึ่งสิ่งที่เราทำได้ง่ายๆ เพื่อช่วยโลก
จากที่เคยขับรถไปจ่ายตลาด ไปซื้อของหน้าปากซอย ไปไหนที่เป็นระยะทางแค่สั้นๆ เราอาจทดแทนได้ด้วยการเดิน หรือการใช้จักรยาน
ขณะที่การเดินทางระยะยาว เราก็อาจเลือกเดินทางที่มีความจำเป็น และลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย และสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนด้วยการลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทาง และยังช่วยลดการสูญเสียเวลาที่ไม่จำเป็นอีกด้วย
โดย ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจะทำให้คนหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบความเคยชินในการเดินทางและเลือกวิธีการเดินทางใหม่ๆ อยู่ที่เหตุจูงใจด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและเศรษฐกิจ
ขณะที่ผู้บริหารกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่ทั้งจังหวัดและชุมชน จะต้องตระหนักในความจำเป็นในบทบาทและการมีส่วนร่วมของตนเองในเรื่องนี้
การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางที่สร้างเสริมสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสรรค์สร้างกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ประโยชน์ของการเดินทางด้วยจักรยานที่มีต่อสุขภาพต่อชุมชนและต่ออนาคตของตนเอง สร้างแบบอย่างเพื่อจุดประกายให้ทุกคนเห็นว่า การลดใช้รถส่วนตัว แล้วหันมาขี่จักรยาน นอกจากจะได้เสริมสร้างสุขภาพ ยังช่วยลดแรงกดดันต่อระบบนิเวศซึ่งเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ส่วนหนทางอื่นๆ ที่เราจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนและให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยังอาจทำได้โดยเพิ่มความระมัดระวังในทุกกิจกรรมการผลิต และการบริโภคเพื่อให้เกิดการลดการใช้พลังงาน ที่จะเป็นเหตุให้มีการเผาไหม้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิด ต้องช่วยการปลูกต้นไม้ และลดเลี่ยงกิจกรรมที่จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการสูญเสียและการเสื่อมโทรมของป่า จะต้องมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในทุกโอกาส จะต้องมีส่วนร่วมและส่งเสริมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากรและการใช้พลังงานในระดับชุมชน ประเทศ ภูมิภาคและระดับโลกในที่สุด
และสิ่งง่ายๆ ที่กล่าวมาแล้ว การลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว เดิน ใช้จักรยานและใช้การบริการขนส่งมวลขน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีทิศทางและมีความหวังมากขึ้น
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพฉบับสร้างสุข กันยายน 2553
update:22-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ