ปัยจัยเสี่ยงที่ทำให้เข่าเสื่อม
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปัจจัยหลักที่ทำให้เข่าเสื่อม คือ อายุ เมื่ออายุมากขึ้นย่อมมีอาการเสื่อมเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับกรรมพันธุ์ ปัจจุบันมีการพบยีนที่มีส่วนทำให้เข่าเสื่อม ปัจจัยทั้ง ๒ อย่างจะแก้ไขได้ยาก แต่ปัจจัยต่างๆ ข้างล่างต่อไปนี้ จะเป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขได้ก็สามารถป้องกันอาการเข่าเสื่อมได้ในอนาคต
๑. ความอ้วน
ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เป็นโรคข้อเข้าเสื่อมโดยเฉพาะในผู้หญิง น้ำหนักตัวที่มากจะทำให้กระดูกอ่อนเข่าสึกกร่อนและทำให้เอ็นรอบเข่าไม่แข็งแรง ทุกๆ ครึ่งกิโลกรัมที่เพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว จะทำให้น้ำหนักลงไปที่เข่าเพิ่มขึ้น ๑-๑.๕ กิโลกรัม เพราะขณะที่เดินน้ำหนักจะลงที่ขาข้างที่เหยียบอยู่ รวมทั้งมีแรงของกล้ามเนื้อช่วยเสริมให้มีแรงกดที่เข่ามากขึ้น การศึกษาในผู้มีอาการปวดเข่า พบว่าอาการปวดจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถ้าน้ำหนักตัวลดลง
๒. ผู้หญิงมากกว่าชาย
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าชายโดยเฉพาะผู้หญิงวัยทอง เชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ลดลง นอกจากนี้ พบว่าผู้หญิงที่เล่นกีฬามีโอกาสที่จะมีการฉีกขาดของเอ็นเข่าได้มากกว่า ๒ เท่าของผู้ชาย การขาดของเอ็นจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายในอนาคต
๓. การเรียงตัวของเข่า
ผู้ที่มีเข่าชิดกันมากกว่าปกติ (valgus knee) เข่าโก่ง (varus knee) หรือมีเข่าแอ่นมาก (Knee hyperextension) จะมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า
๔. มีประวัติบาดเจ็บของเข่า
เช่น กระดูกแตกบริเวณข้อเข่า หมอนรองกระดูกเข่า (meniscus) หรือเอ็นเข่าฉีกขาด จากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา การบาดเจ็บเหล่านี้จะทำให้ข้อสบกันไม่สนิท อาจมีบางส่วนของข้อที่มีการกดมากกว่าปกติจะทำให้ข้อเสื่อมได้ ลองนึกถึงบานพับประตูที่บิดเบี้ยว แรงที่กดไปที่บานพับจะไม่สม่ำเสมอ ทำให้บานพับสึกกร่อนได้ง่าย
๕. ท่าทาง งานหนัก และงานซ้ำชาก
ท่าทาง งานหนัก และงานซ้ำชาก มีผลทำให้เข่าเสื่อม ซึ่งคนทำงานที่ต้องคุกเข่า นั่งยอง ยืนนาน หรือต้องยกของหนักจะมีอัตราการเกิดข้อเสื่อมได้ง่ายกว่าคนที่ทำงานเบา
นอกจากนี้ การบิดหมุนของเข่าขณะทำงาน เช่น การหมุนตัวขณะยกของหนักจะทำให้เข่าเสื่อมง่ายขึ้น จากงานวิจัย Framingham พบว่า งานเหล่านี้มีผลร้อยละ ๑๕-๓๐ ที่ทำให้เข่าเสื่อมโดยเฉพาะผู้ชายทำงาน
๖. การเล่นกีฬา
กีฬาที่มีการแข่งขันจะมีผลทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้น นักกีฬาฟุตบอลมีความเสี่ยงจะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะมีอาการบาดเจ็บสะสมจากการกระโดดและการบิดของเข่าเป็นประจำ การที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายที่มากเกินไป เช่น การเดินระยะทางไกล การทำสวน (ต้องนั่งยองหรือเก้าอี้ต่ำบ่อย) มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป
๗. ความยาวขาไม่เท่ากัน
ความยาวของขาที่ไม่เท่ากันมีความสัมพันธ์กับอาการเข่าและสะโพกเสื่อม พบว่าถ้าความยาวของขาทั้ง ๒ ข้างห่างกันเกิน ๑ เซนติเมตร จะมีโอกาสเกิดเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนที่ขายาวเท่ากันทั้ง ๒ ข้างประมาณร้อยละ ๔๐
๘. กล้ามเนื้อหน้าขาอ่อนแรง
กล้ามเนื้อหน้าขามีหน้าที่เหยียดข้อเข่า ลองนั่งห้อยขาและเตะขาขึ้น กล้ามเนื้อกลุ่มนี้จะทำงาน พบว่าผู้หญิงที่มีกล้ามเนื้อหน้าขาอ่อนแรง (เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว) จะมีโอกาสที่เข่าเสื่อมได้มากกว่าคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรง ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) กับ อาการเข่าเสื่อม
นอกจากนี้ อาหารการกินยังมีผลทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ การขาดวิตามินดีและซีลีเนียม จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้น