“ปัญหาจะผ่านไป” คาถาใจสำหรับคนไกลบ้าน
ยามน้ำท่วมแบบนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องไร้บ้าน และต้องออกจากบ้านเพื่อไปพักอาศัยที่อื่น บ้างก็อาศัยบ้านญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง หรือบางสำนักงานก็จัดหาที่อยู่ให้พนักงานได้ไปพักพิง และคนอีกจำนวนหนึ่งก็ใช้บริการของศูนย์พักพิงต่างๆ ที่ทางหน่วยงานราชการจัดหาไว้ให้ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่อยู่ไกลบ้าน คงหนีไม่พ้นอาการ “คิดถึงบ้าน” ที่ทำให้ใครหลายคนต้องนับวันรอ และได้แต่เฝ้าภาวนาขอให้น้ำลดและได้กลับบ้านไวๆ
เมื่อเกิดอาการคิดถึงบ้าน อาการภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้าก็มาเยือนอย่างหลีกหนีไม่ได้เช่นกัน โดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ความเครียดของผู้ประสบภัยที่อยู่ที่ศูนย์พักพิง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การจัดการความเครียดจึงต้องเข้าใจและจัดการตามสาเหตุ ควรทำใจยอมรับ อดทน มองว่า “ปัญหาจะผ่านไป” ซึ่งความเครียดจากความกังวลต่อปัญหาที่จะตามมา ควรแยกแยะปัญหาที่กังวล เลือกลงมือทำในสิ่งที่ทำได้ ทีละขั้น ทีละตอน ปัญหาระยะยาวในอนาคต ควรวางไว้ชั่วคราว ค่อยคิดแก้ไขเมื่อพร้อม และวางเป้าหมายการใช้เวลาในแต่ละวัน เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น การใช้ความสามารถของตนให้เกิดประโยชน์ เพราะความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวัน จะช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความรู้สึกดีกับตัวเอง
“ความเครียดจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น หรือจากความเป็นอยู่ที่ไม่สุขสบาย ควรทำใจยอมรับ อดทน มองว่า ปัญหาจะผ่านไป นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ค้นหาสิ่งดีๆ ที่ยังมีอยู่รอบตัว แยกแยะประเด็นปัญหาที่กังวล เลือกลงมือทำในสิ่งที่ทำได้ ทำทีละขั้นทีละตอน เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ส่วนปัญหาในอนาคต ควรวางไว้ชั่วคราว ค่อยคิดแก้ไขเมื่อพร้อมและควรปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา จะช่วยให้ใจสงบ ยอมรับความจริงได้ดีขึ้น”นพ.ประเวชกล่าว
นพ.ประเวช ยังได้แนะนำ 10 วิธีดูแลจิตใจตนเองไว้เป็นแนวทางให้ใครหลายคนที่ยังจมอยู่กับทุกข์ว่า ขั้นแรกต้องตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข 2.หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ได้แก่ ความรักความผูกพันกับคนในครอบครัว ความศรัทธาทางศาสนา การมีเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า ความเชื่อว่าปัญหาจะผ่านไป…แล้วมันจะดีขึ้น การมองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิต 3.ฝึกหายใจคลายเครียด และทักษะผ่อนคลายอื่นๆ 4.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง 5.พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว ช่วยกันปรึกษาหารือ แปลงปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันใกล้ชิดต่อกัน
6.บริหารร่างกายเป็นประจำ เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที วันเว้นวัน 7.ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา 8.มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน 9.คิดทบทวนสิ่งดีๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน และวิธีสุดท้ายคือการจัดการปัญหาทีละขั้นทีละตอน ทำในสิ่งที่ทำได้ สร้างความรู้สึกสำเร็จเล็กๆ จากสิ่งที่ทำ ไม่จมไปกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียดความทุกข์ใจ
อย่างไรก็ตามอาการคิดถึงบ้านแบบนี้หากสะสมไว้มากๆ ก็จะกลายเป็นอาการของโรคซึมเศร้าได้อย่างไม่ยาก!!
“ความรู้สึกเศร้าเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคนเราประสบกับความสูญเสีย ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อคนเราทำใจได้ และยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่หากมีอารมณ์เศร้ามาก จนรบกวนการดำเนินชีวิต หรือเศร้านานเกินควร ก็อาจเป็นอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยใช้วิธีการดูแลใจตามแนวทางข้างต้นก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้”นพ.ประเวชกล่าว
และแม้คนไกลบ้านไปยังศูนย์พักพิงต่างๆ หากจมอยู่แต่กับความเศร้า สิ่งดีๆ ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น การที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ได้ น่าจะบรรเทาอาการได้ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ นพ.ประเวช กล่าวว่า เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิง ผู้บริหารศูนย์ควรจัดพื้นที่ให้ผู้ที่มาจากชุมชนเดียวกัน ได้อยู่ร่วมกัน เพื่อให้เขาได้ช่วยเหลือกันเอง จัดระบบให้มีผู้แทนในการร่วมกันดูแลพื้นที่ในศูนย์พักพิง จัดแบ่งความรับผิดชอบ ใครถนัดอะไร ให้ช่วยกันทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ดูแลเด็กๆ ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ซ่อมแซมของใช้ เป็นผู้นำกิจกรรมผ่อนคลายและสันทนาการต่างๆ ช่วยดูแลสุขภาพ
สำหรับผู้ประสบภัย เมื่อได้พักผ่อนร่างกายเพียงพอแล้ว ควรเริ่มมองหาโอกาสในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องรอคอยคำร้องขอ ทำอะไรได้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ให้ลงมือทำ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เชื่อมั่นตนเองมากขึ้น
และแม้ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งสำคัญที่สุด คือ “ใจที่เข้มแข็ง” ก็ตาม หมอประเวชก็ย้ำว่า แนวทางการสร้างกำลังใจ เป็นแนวทางการสร้างความเข้มแข็งทางใจ เมื่อเกิดความท้อใจ และพบกับปัญหาที่ยังมองไม่เห็นทางออก ปัญหายืดเยื้อยาวนาน ไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้จุดหมาย สูญเสียความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา แก้ไขได้ด้วยการสร้างกำลังใจให้กับตัวเองในทางที่หลากหลาย ดังนี้
แม้จะยากที่ต้องต่อสู้กับปัญหา แต่หากใช้ใจมองปัญหาและเชื่อมั่นว่า ปัญหาจะผ่านไป เมื่อถึงวันนั้นความเข้มแข็งจะกลับมาและลุกขึ้นสู้ต่อ รับพร้อมกับวันใหม่ที่ยังรอในวันรุ่งขึ้นเสมอ
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th