ปักหมุด Palliative Care ดูเเลด้วยหัวใจ

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนานโยบาย “ปักหมุด Palliative Care ใน กทม. ” และหนังสือคู่มือชีวามิตร อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ

                    หากคุณรู้ว่าเวลาของชีวิต กำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า หากคุณมีโอกาสรู้ว่า อาจไม่มีวันพรุ่งนี้อีกต่อไปแล้ว คุณจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร และอยากเลือกวิธีการดูแลรักษาในช่วงสุดท้ายด้วยตัวเองหรือไม่ Palliative Care เป็นอีกทางเลือกที่เลือกได้ เพื่อการอยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุข

                    เมื่อไม่นานมานี้ สสส. ชีวามิตร ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จัดงานเสวนานโยบาย “ปักหมุด Palliative Care ใน กทม.” แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอปัญหา และแนะนำการขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับทุกช่วงเวลาของชีวิต ที่หอประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

                    รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าถึงระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ใน กทม.ว่า ระบบ Palliative Care ในเมืองใหญ่ เป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะบริบทใน กทม. ประชาชนมีสิทธิการรักษาซับซ้อนและหลายรูปแบบ จะต้องมีระบบเครือข่ายที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐาน และทุกภาคส่วนจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญและวิธีการปฏิบัติ เสริมกำลังให้ผู้ป่วยระยะท้าย ได้รับการดูแลแบบประคับประคองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจากครอบครัวและชุมชน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการวางโครงสร้างที่เหมาะสมรองรับกับสถานการณ์นี้ เช่น สร้างโรงพยาบาล หรือสถานที่ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ

                    “ทั้งครอบครัว ชุมชน และผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมีความสำคัญมากในการสร้างความเข้าใจว่าระบบ Palliative Care มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายของผู้ป่วย รวมถึงการทำให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบและสันติ” เป็นมุมมองของ นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ที่มีต่อระบบ Palliative Care และเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับสังคม

                    “สสส. สนับสนุนเรื่องการบุกเบิกการสร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘ชุมชนกรุณา’ ที่จะดูแล ประคับประคองกันเองในชุมชน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว จะต้องมีการส่งต่อ และให้คนในสังคมเข้าใจเรื่อง Palliative Care การเผชิญความตายอย่างสงบ ยอมรับ ไม่ผลักไส ให้ชุมชนเป็นชุมชนที่เกื้อหนุน รวมทั้งร่วมกับชีวามิตรในการสร้างหลักสูตร สร้างการสื่อสารสาธารณะให้ผู้คนได้เข้าใจในเรื่องของมุมมองชีวิตและความตาย และการเตรียมตัวก่อนตาย นางญาณี กล่าว

                    ข้อดีของ Palliative Care

                    1. ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายมากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

                    2. ลดการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้รุกรานความสุขหรือทำให้เกิดอาการข้างเคียง

                    3. ให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเหมาะสมกับญาติ ครอบครัว และผู้ดูแลใกล้ชิด

                    4. ทีมรักษาแบบประคับประคอง ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และนักจิตวิทยาสังคม ร่วมกันดูแลรักษาโรคทางกายไปพร้อมกับดูแลจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย

                    5. เชื่อมต่อการดูแลจากโรงพยาบาลไปยังบ้านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย

                    6. ช่วยประคับประคองจิตใจผู้ดูแลให้มีความสุขกับช่วงเวลาของการดูแลไปจนถึงวาระสุดท้ายของผู้ป่วย

                    นางสาวดวงสมร กรทองคำ ประธานชุมชนสร้อยมาลา เขตหนองแขม ผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายโดยใช้วิธี Palliative Care เล่าให้ฟังว่า มีโอกาสได้รู้จักกับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จากการพาผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ แล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นพี่ชายที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคตับ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น ด้วยความรักจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะหลานสาว ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยยอมทานยา แม้จะทานแล้วได้รับผลข้างเคียงก็ตาม

                    “การดูแลแบบ Palliative Care นั้น ทำให้รู้วิธีดูแลผู้ป่วยไม่เฉพาะความเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่ดูแลไปถึงจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น เน้นการพูดคุย และใช้เวลาร่วมกับผู้ป่วย รวมทั้งการถามความสมัครใจในกระบวนการรักษาจากการตัดสินใจด้วยตัวผู้ป่วยเอง สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ จริง ๆ แล้วผู้ป่วยทุกคนอยากจะหาย กำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก และอยากฝากกำลังใจถึงผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีความอดทน อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ เพราะอีกไม่นานเขาก็จะจากเราไปแล้ว อยากให้ใช้เวลาที่เหลือร่วมกันให้ดีที่สุด” นางสาวดวงสมร ฝากทิ้งท้าย

                    Palliative Care ไม่ใช่ภารกิจของบุคคลหรือหน่วยงานใดโดยเฉพาะ แต่อาศัยการทำงานเป็นองคาพยพ ขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจในทุกระดับ ทั้งระดับวิชาชีพและสังคมสาธารณะให้เกิดความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในการขับเคลื่อนให้งานการดูแลแบบประคับประคองเกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร รวมถึงขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต และให้คนไทยได้เข้าใจ เข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนลมหายใจสุดท้ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

Shares:
QR Code :
QR Code