“ปักหมุดจุดเผือก” สร้างเมืองปลอดภัย
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพโดย สสส.
"ทีมเผือก" ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชน "ไม่เงียบ" และ "ไม่นิ่งเฉย" ที่เมื่อพบเห็นเหตุการณ์คุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะแล้วไม่เพิกเฉย แต่ร่วมมือกันต่อยอดไปสู่การสร้างเมืองที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง
ในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ "Voice of the voiceless : the vulnerable populations" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและคนทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับมาร่วมกันส่งเสียงเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้ประชากรกลุ่มเฉพาะทั้ง 8 กลุ่มได้เข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน เปิดพื้นที่เปิดใจ สร้างโอกาส สร้างการยอมรับ และปรับทัศนคติมุมมองความคิดที่สังคมเคยมีเพื่อการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างเข้าใจและเท่าเทียม
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวถึงแคมเปญ "ปักหมุด จุดเผือก" ว่า ในขั้นแรกเราหวังจะกระตุ้นจิตสำนึกของคนเมืองให้มาช่วยกันสอดส่องระวังภัย โดยแคมเปญปักหมุด จุดเผือก จะเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้หลายคนสามารถระบุจุดเสี่ยงด้วยตัวเอง เพื่อเตือนภัยให้คนอื่น ๆ ได้ ที่สำคัญคือเรายังสามารถรวบรวมข้อมูลที่ได้จากทุกคนที่ร่วมเป็น #ทีมเผือก ระบุจุดเสี่ยงกับเรา ไปเสนอต่อผู้มีอำนาจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาปรับปรุงพื้นที่ให้เมืองของเราปลอดภัยมากขึ้น
ขณะที่ นายตุลย์ ปิ่นแก้ว ผอ.ยุทธศาสตร์ บริษัท Sidekick หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่า จากผลสำรวจการใช้บริการขนส่งสาธารณะในผู้หญิงพบว่า กว่า 45% เคยประสบกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศ ในปี 2561 โดยการสร้าง "ทีมเผือก" ในปีแรก คือ พนักงานเผือกที่มีความเข้าใจต่อสภาพปัญหา และพร้อมปฏิบัติและแทรกแซงเมื่อเจอการคุกคามและทีมเผือกภาคประชาชน การดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ด้วยการสื่อสารโดยตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดพื้นที่สำหรับการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่ต้องการร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง และสื่อสารข้อมูลที่พบให้เข้าใจง่าย ทำให้พบข้อมูลว่า ปี 2560 มีเหตุการณ์คุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะถึง 52% มากที่สุดเป็นรถเมล์
ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่มีการขับเคลื่อนโครงการ "ถึงเวลาเผือก" ทำให้รู้ว่าการคุกคามทางเพศ ไม่ได้เกิดเฉพาะบนระบบรถขนส่งเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดการเดินทางจากบ้านไป/กลับ โรงเรียนหรือที่ทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 15-22 ปี กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งหลาย ๆ คนเริ่มเดินทางจากบ้านหรือหอพักไปยังที่หมายเองเป็นครั้งแรก อายุ 23-45 ปี กลุ่มวัยทำงาน
ดังนั้นในปี 2562 จึงจะมีการขับเคลื่อนเรื่อง "ปักหมุด จุดเผือก" เพื่อสร้างเมืองที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นการดัดแปลงการปักหมุดที่มีการนำร่องโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่าน Google Maps มาใช้สำหรับการให้ประชาชนทั่วไปรายงานจุดเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนที่จะนำจุดต่าง ๆ ที่ได้รับรายงานมาปักแสดงไว้ในแผนที่ เพื่อแสดงถึงจุดเสี่ยงอันตราย
"เมื่อประชาชนจำนวนมากร่วมกันปักหมุดจุดเสี่ยงแล้ว จะนำมาทำเป็นแผนที่แสดงจุดเสี่ยง โดยอาจจะใช้ระบบสีเข้ามานำเสนอ สีนี้แสดงถึงจุดเสี่ยงมาก สีนี้แสดงถึงจุดเสี่ยงน้อย เพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายในการแก้ไขปรับปรุงต่อไป" นายตุลย์ กล่าว