ปอพาน ฮึด ดึงพลังพุทธ เสริมกลยุทธ์ สามเหลี่ยมชุมชนขยับ ปรับน้ำเมาเป็นน้ำดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ที่ตำบลปอพาน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ชุมชนต้นแบบ ที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ผ่านรูปแบบ "สามเหลี่ยมชุมชน ขยับขับเคลื่อนงานลดเลิกสุรา" ในชุมชน โดยมีสามแกนหลักสำคัญ ประกอบด้วย 1. พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา 2. บุคลากรทางสุขภาพในพื้นที่ รพ.สต. และ อสม. และ 3. ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทั้งสามฝ่ายวางเป้าหมายร่วมกันที่ตัวผู้ดื่มซึ่งมีปัญหา ให้เกิดการปรับเปลี่ยน ทั้งภายนอกและภายใน จน ลด ละ และเลิกได้ในที่สุด
"ข้อมูล" ต้นทุนทำงานพื้นที่
ก้าวแรกของโครงการขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธ ถูกบอกเล่าโดย ดวงใจ สอนเสนา พยาบาลปฏิบัติการ ตัวแทนบุคลากรสุขภาพจากโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ต.ปอพาน เอ่ยว่า
"ก่อนหน้านี้ เราทำเรื่องเลิกบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็รู้ว่าในชุมชนมีปัญหาที่เวลางานบุญ มักมีการทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ เพราะดื่มสุรา เราจึงสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยไปปรึกษาพระอธิการสุชาติ เดชดี เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยปอพาน ท่านได้รับฟังก็ตกลงใจร่วมโครงการ"
โครงการเริ่มจากให้อสม.คัดกรอง ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ นุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดเป็นเวลา 7 วัน มีกิจกรรมให้ทำ อาทิ สวดมนต์ไหว้พระ เดินบิณฑบาตตอนเช้า อบรมฟังธรรม ทำจิตใจให้ว่าง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่ก่อนจะเดินหน้าดำเนินงานนั้น ทางโครงการยังได้จัดทำข้อมูลวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดื่มสุรา 4 ครอบครัวตัวอย่างในชุมชน พบว่าในแต่ละปีครอบครัว ที่มีผู้ติดสุรา ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านนี้ ถึงปีละ 130,000 บาท
ยังไม่รวมกับปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากผลเสียของการดื่มสุรา ทั้งสุขภาพ หนี้สิน ความรุนแรงในครอบครัว ภรรยาถูกสามีเวลาเมาทำร้าย ทุบตี รอยช้ำตามตัว มาให้ทำแผลทุกอาทิตย์ หลายรายที่ทุกข์ใจมาขอรับคำปรึกษา มีภาวะเครียด อีกทั้งยังมีปัญหาอุบัติเหตุเมาแล้วขับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีการเสียชีวิต เช่น หลอดเลือดในสมองแตกเพราะดื่มหนัก หัวใจวาย เมื่อตรวจสอบประวัติการ มาจากการดื่มสุราทั้งสิ้น
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังกลายเป็น "ต้นทุนข้อมูลของพื้นที่" ที่สำคัญ ที่ผลักดันให้คน ในชุมชนหันมาให้ความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ ขณะเดียวกันก็ยังกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการสมัครใจเข้าร่วมโครงการครั้งแรก จำนวน 12 ราย
กลยุทธ์น้ำดีไล่น้ำเสีย
สำหรับอีกแรงหนุนที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยคือภาคท้องถิ่น อภิลักษณ์ ภูวงค์กำนัลตำบลปอพาน เป็นตัวแทนเสียงจากกลุ่มแกนนำชุมชนเผยถึงแรงจูงใจที่เข้าร่วมว่า "เป้าหมายของผม อยากเห็นคนในชุมชนกินอิ่ม นอนอุ่น ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ ต้องนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และลดภาระหนี้สิน ทุกคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสุราเป็นต้นตอสำคัญที่เชื่อมโยงปัญหาทั้งหมดในเรื่องนี้"
เมื่อรวมพลังชุมชนได้ โครงการ ขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการ ดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธของปอพาน จึงเริ่มขึ้น แต่ในการจะเริ่มให้กลุ่มเป้าหมายมาเข้าโครงการเพียงลำพัง หลายฝ่าย เห็นตรงกันว่าอาจไม่ได้ผลดีพอ หากไม่มี "ตัวช่วย"
"เรามองว่าถ้าเอาแต่คนมีปัญหามาเข้ากิจกรรมที่วัดจะไม่สำเร็จ เขาอาจถูกชุมชนเพ่งเล็งว่าเป็นตัวปัญหา เราจึงใช้วิธีให้เขาอบรมร่วมกับคนที่ปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว เพราะพระอาจารย์ฯ ท่านให้คำแนะนำ ควรเอาคนที่นุ่งขาวห่มขาวเป็นประจำ ญาติโยม และพี่น้องผู้สมัครใจเข้าบำบัด และทำกิจกรรมร่วมกัน น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า"
กำนันปอพาน ยังถ่ายทอดต่อว่า แรกๆ คนที่เข้ารับการบำบัด ก็มีอาการกระวนกระวาย เหมือนจะอยู่ไม่ได้ครบ 7 วัน "แต่เราใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เอาน้ำดีไล่น้ำเสีย โดยให้ญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมด้วยกันนี่แหละ เป็นผู้ให้กำลังใจคอยชักจูง ช่วยพูดให้เขารู้สึกผ่อนคลาย และ ยังป้องกันให้เพื่อนฝูงที่ชวนดื่มไม่เข้ามาใกล้ ชักชวนผู้บำบัดได้อีกด้วย" ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้ที่อาสาเข้าร่วมโครงการนี้สามารถอยู่ทำกิจกรรมครบ 7 วัน โดยไม่มีใครออกกลางคันเลย
ด้าน พระอธิการสุชาติ เดชดีเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยปอพาน ซึ่งเป็นแกนนำหลักของกิจกรรมครั้งนี้ ร่วมบอกเล่าถึงกิจกรรมในโครงการว่า "วันแรกที่เข้ามา เราจะให้เขาเปลี่ยนจากชุดธรรมดามาเป็นนุ่งขาวห่มขาว รับสมาทานศีลแปด พอตีสามครึ่ง เราส่งสัญญาณให้ผู้บำบัดตื่นมาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิสวดมนต์ไหว้พระ และติดตามพระสงฆ์ออกไป บิณฑบาตในชุมชน เมื่อญาติโยมได้เห็น ก็รู้สึกว่าผู้รับการบำบัดนี้เป็นบุคคลทำประโยชน์ให้ชุมชน ทางญาติพี่น้องก็จะมาให้กำลังใจ ตัวผู้รับการบำบัดเองก็รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
ขณะเดียวกัน เราจะพยายามสรรหากิจกรรมต่างๆ ไม่ปล่อยให้เขามีเวลาว่าง เพื่อไม่ให้ผู้บำบัดกลับไปยึดติดเรื่องเก่าๆ อีก ช่วงบ่ายจะมีเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต และ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วย ชี้แนะคุณโทษการดื่มสุรา
แก้ทุกข์ได้โดยใช้ธรรม แทน "ดื่ม"
"เวลามีงานบุญในวัดเราก็ให้เขามามีบทบาท เพื่อให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสังคม ให้เป็นคนจุดเทียนพิธี "เราดึงญาติธรรมมาช่วยเป็นผู้โน้มน้าวใจ ให้สถานะทางสังคมให้บทบาท เพื่อเปลี่ยนชีวิตใหม่เขา"
เหล่านี้คือกุศโลบายสำคัญที่ส่งเสริม ให้ผู้ที่เคยติดน้ำเมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่
มาฟังเสียงจากผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการ อรัญ เปรมปรี เผยความรู้สึกของตนเอง ทั้งก่อนและหลังร่วมโครงการว่า "ตอนนั้นผมหมดกำลังใจที่จะ สู้ต่อแล้ว เพราะเหล้าเข้าร่างกายผมเยอะ จนป่วยทั้งกายใจ ครอบครัวทุกข์ลำบาก ญาติพี่น้องก็มองว่าเราเป็นคนกินเหล้าเมายา ไม่เอาไหน ได้รู้ว่ามีโครงการจึงตัดสินใจ เดินไปหาผู้นำชุมชน บอกว่าขอสมัคร เข้าร่วมโครงการโดยเราไม่ได้คิดว่าจะทำได้หรือไม่ แต่เพราะตอนนั้น มันไม่มีอะไร จะเสียแล้ว"
อรัญเล่าว่า ตนเองดื่มมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เริ่มต้นเพราะทำงานเป็นคนชงเหล้า และติดสุราเรื่อยมาจนอายุ 50 ปี หลังแต่งงานก็ย้ายไปอยู่กินกับภรรยาที่บุรีรัมย์ ชุมชนนิยมดื่มเหล้าขาว แต่ถ้ามีงานเลี้ยง งานอะไรที่เป็นพิเศษจะดื่มหนักมากขึ้น ชีวิตประจำวันเขาคือ กรีดยางพาราไป ก็กระดกขวดเหล้าไปมา หลังเลิกงาน ก็ดื่มตบท้ายอีกขวด เหตุเพราะความเมาทำให้เขาเคยเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุรานับสิบครั้ง และต้องถูกไล่ออก หนักสุดคือ ที่นา 8 ไร่ ของภรรยา ต้องหมดไปกับการขายนำเงินมาซื้อเหล้า กระทั่งปี 2555 ภรรยาเสียชีวิตจากไตวาย ต่อมาจึงย้ายมาอยู่บ้านเกิดตำบลปอพาน เมื่อแต่งงานใหม่ ก็ยังมีนิสัยดื่มเหล้าเหมือนเดิม ยิ่งทำงาน ยิ่งดื่มเยอะ เงินรับจ้างรายวันก็หมดไปกับเหล้า มีหนี้สินมากขึ้น
"ช่วงแรกที่เริ่มเข้าโครงการ เราก็ทุรนทุราย เคยคิดอยากปีนกำแพงวัดหนีเหมือนกัน แต่มาเจอเพื่อนๆ เขาห่มขาวนอนเรียงรายขวางเราเต็มไปหมด มาคิดว่าเพื่อนยังอยู่ได้ ก็เลยอยู่ต่อ พอวันที่ 3 ก็เริ่มดีขึ้น
เขาให้เราปฏิบัติธรรม ทำกิจกรรม ทำความสะอาด มีเจ้าหน้าที่ รพ.สต ไปเยี่ยมดูแลเรา เลยฮึดเดินหน้าต่อ เลิกให้ได้ ครอบครัวมาให้กำลังใจ มาส่งข้าวที่วัดเราก็ดีใจ รู้สึกว่าเขายัง มีใจกับเรา"
ตอนนี้เขาบอก ชีวิตดีขึ้น เหมือนมีอนาคตใหม่ หนี้สินไม่มี เริ่มมีเงินเก็บมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งเป็นเงินที่เคยลงขวด มาทั้งนั้น "มีเพื่อนลองใจอยู่หลายครั้ง แต่เราก็ยิ้มๆ บอกว่า เอาเถอะเคยกินมาแล้ว" อรัญกล่าวยิ้มๆ
สามเหลี่ยมชุมชนขยับขับเคลื่อนลดเลิกสุรา
ดวงใจเอ่ยถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จว่า เกิดจากรูปแบบการทำงาน "สามเหลื่อมชุมชนขยับขับเคลื่อนงานลดเลิกสุรา" ที่มาจากการบูรณาการแท้จริงของทุกฝ่ายในชุมชน "มันเป็นงานแรกที่เราทำ แล้วมัน เห็นผลเลยเพราะที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ เดี๋ยวเลิก เดี๋ยวกลับมาดื่ม ถ้าจะได้ผลมันต้อง อาศัยทุกคนในชุมชนร่วมกัน งานนี้ผู้นำชุมชนก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แม้แต่กำนันเองก็ยอมทิ้งภารกิจ ร่วมห่มขาวในวัด" ดวงใจเอ่ย
"หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว เราก็ยังมาคุยกันว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร ใครมีบทบาทอย่างไร จะประเมินร่วมกันตลอด เรามี อสม. ช่วยไปดูแลพูดคุย แต่ถ้าเขาหันกลับมา เราก็จะรวมทีมไปให้กำลังใจ โดยเรา ไม่ตราหน้าว่าเขาเป็นคนไม่ดี
สุราอาจมีข้อดีสำหรับเขา เช่นบางคนดื่มแล้วรู้สึกคลายเครียด แต่เราก็ต้องไป พูดคุยเสริมให้เห็นข้อดีข้อเสียที่แท้จริง เวลาเขาเจอเพื่อนท้าทายเราต้องแนะนำ เขาว่ามีวิธีรับมืออย่างไร อย่างอรัญ ทุกวันนี้ เขาสามารถนั่งกับเพื่อนในวง แต่สามารถไม่ดื่มได้"
กำนันอภิลักษณ์ ร่วมเสริมว่า "เรายังติดตามบุคคลที่ยังเสี่ยงเข้าไปอยู่ในวงจรเดิมตลอด ว่ามีใครบ้าง เราจะไป คอยเติมพลัง พร้อมสังเกตการณ์ เราใช้ การพูดคุยแบบเป็นพี่เป็นน้องกัน อย่างเขาเคยโดนท้าทายว่าเสแสร้ง จะไปได้สักกี่น้ำ เราก็จะชี้ให้ความเห็นว่า คำพูดนั้นเป็นปัญหา ของเขา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราตั้งใจจะเลิก เราก็ต้องมุ่งมั่น หมั่นให้เขาสังเกตตัวเราว่า กำลังแรงดีขึ้นไหม ทำงานเหนื่อยไหม ความคิดแจ่มใสดีหรือไม่"
แม้วันนี้จะมีคนเลิกได้จริง 5 คน และยังมีผู้เข้าร่วมโครงการบางคนเลิกไม่ได้ 100% แต่แนวโน้มก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด "หลังๆ นี้ บางคน แม้จะจบโครงการแต่ก็ยังมาวัด มาทำกิจที่วัดทุกวัน ตอนเช้าก่อนพระบิณฑบาตก็มาแล้ว" พระอธิการสุชาติบอกเล่า "อาตมาเองก็จะแนะนำเสมอว่า มีความทุกข์ไม่ต้องไปลงที่เหล้า แต่มา ระบายที่วัดให้พระสงฆ์ฟัง เราก็บอกแนวทาง ให้เขารู้จักคิด รู้จักธรรม"
"ตั้งแต่ต้นจนจบโครงการนี้ เราไม่ได้ใช้ยาช่วยเลย" ดวงใจเสริม "ทั้ง 12 คนเราไม่พบพฤติกรรมแบบเดิมอีก ถือว่าสิ่งที่ทำมาประเมินค่าไม่ได้ แต่เรามองว่าเราได้ทำบุญ เห็นลูกเมียเขามีความสุข บางคน อยู่แต่กับวงเหล้าไม่เคยทำความดี แต่การได้มีกิจกรรมไปบิณฑบาตกับพระสงฆ์ ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ ครอบครัว เองก็ภูมิใจกลับมาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น" อภิลักษณ์ กล่าว
สำหรับโครงการขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธ นี้เป็นอีกโมเดลของการขับเคลื่อน ลดผู้ติดสุราระดับพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะผู้ที่ผลักดัน รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่าโครงการนี้เป็นการศึกษากลไกการบูรณาการรูปแบบการบำบัดดูแล ผู้มีปัญหาการดื่มสุรา
ทั้งในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพ ซึ่งมีการทำงานนำร่องใน 25 ชุมชน 25 วัด ในภาคเหนือและภาคอีสาน ค้นพบผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา 411 คน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 298 คน เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆ สามารถเลิกดื่มได้ 53 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8 และลดระดับการดื่ม 227 คน คิดเป็นร้อยละ 76.2 นับเป็นความสำเร็จที่เป็น รูปธรรมชัดเจนจากการทำงานที่จริงจัง
"หลังจากนี้ น่าจะมีการขยายผลทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อให้แนวทางนี้ เดินหน้าต่อไป โดย สสส. พร้อมสนับสนุนการทำงานที่สามารถบูรณาการความร่วมมือ จากหลายฝ่าย จนเกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลง ที่ชัดเจน ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มจุดเล็กๆ แต่เข้มแข็ง และพร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกันกับชุมชนอื่นที่มีปัญหา" รุ่งอรุณ กล่าวทิ้งท้าย