‘ปอดบวม’ โรคที่ไม่ควรมองข้าม
เข้าสู่ฤดูหนาวเป็นที่เรียบร้อย หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีลมหนาวมาเยือนให้รู้สึกเย็นกายเย็นใจกันบ้างแล้ว แต่อีกสิ่งที่มาพร้อมกับลมหนาวก็คือ ‘โรคภัยไข้เจ็บ’
ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในช่วงนี้คือ ‘โรคปวดบวม’ อาจดูเหมือนจะเป็นโรคที่หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจกันมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่า โรคชนิดนี้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ‘โรคปวดบวม’เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อ ‘สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี’ เป็นสาเหตุหลักของโรคปอดบวม และยังเป็นเชื้ออันตรายที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรครุนแรงอย่างโรค ไอ พี ดี ได้อีกด้วย โดยพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งพบประมาณ 30-40% ของโรคปอดบวมในเด็ก อีกทั้งยังมีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ และบี ส่วนเชื้ออื่นๆ ที่พบได้ในผู้สูงอายุและโรคประจำตัวเรื้อรัง จะเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ
“อาการของโรคปอดบวม”
ศ.นพ.ธีระพงษ์ บอกเพิ่มเติมว่า หากสังเกตว่ามีอาการไข้มากกว่า 3 วัน ไอนานและรุนแรง เริ่มมีอาการหอบเหนื่อย จะเป็นระยะเริ่มแรกของโรคปอดบวม โดยหากผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ หรือมีเสมหะ
ในระยะต่อมา เสมหะจะเป็นหนอง ในรายที่มีอาการรุนแรง จะเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด และเจ็บหน้าอก ส่วนบางรายที่ติดเชื้อรุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
“สถานการณ์โรคปอดบวมในไทย”
ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีผู้สูงอายุมากขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการป่วยโรคปอดบวมมากขึ้น ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคปอดบวมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60-65 ปี โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยประมาณ 100-200 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และอัตราการเสียชีวิตจะพบบ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
สำหรับอนาคตในอีก 10 ปี ข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน โดยผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคปอดบวมและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่นด้วย
“โรคปอดบวม ดูแลรักษาอย่างไร”
วิธีการดูแลรักษา หากโรคไม่รุนแรงมากนักจะให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านไวรัสในการรักษา แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงอย่าง เจ็บหน้าอก มีหนองในเยื่อหุ้มปอด หรือบางรายมีเชื้อเข้าในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการช็อก และบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นมีเชื้อขึ้นไปที่สมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มในสมองอักเสบและเสียชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะพบบ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
เมื่อรู้ว่าเป็นโรคปอดบวมโรคต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ส่วนวิธีป้องกันคือ ต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากจะเป็นเหตุนำให้ป่วยเป็นโรคปอดบวมได้
“นอกจากนี้ ยังสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม ซึ่งฉีดป้องกันได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว” ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต