ปศุสัตว์เผย สุนัข-แมวจรจัด พุ่ง 5 ล้านตัวอีก 20 ปี

ที่มา : คมชัดลึก


ปศุสัตว์เผย สุนัข-แมวจรจัด พุ่ง 5 ล้านตัวอีก 20 ปี thaihealth


แฟ้มภาพ


"ปศุสัตว์"เผยไทยจะมีสุนัข-แมวจรจัด 1.92 ล้านตัวในปี 70 และอีก 20 ปีข้างหน้าจะมากถึง 5 ล้านตัว เร่งพ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ เข้าสู่สภา


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่ากรมปศุสัตว์เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่  


ทั้งนี้เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป โดยก่อนหน้านี้ครม.ให้นำกลับมาทบทวนเรื่องค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสัตว์เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน โดยล่าสุดกำหนดให้ค่าขึ้นทะเบียนสัตว์นั้นไม่เกินตัวละ 170 บาท แต่ทั้งนี้ให้อำนาจท้องถิ่นอาจพิจารณาไม่เก็บก็ได้


นอกจากนี้ได้นำ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ที่เว็บไซด์ http://www.dld.go.th/th/index.php/th/legal-dld-menu/draftact-menu/18384-draft-vetservice โดยร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้กรมปศุสัตว์เสนอขอให้พิจารณาร่วมกับร่างพ.ร.บ. ชื่อเดียวกันที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอและกำลังรอการพิจารณาร่วมกันอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ปัญหาสัตว์จรจัดและเพิ่มความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบ แต่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำกลับมาพิจารณาแก้ไขไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินสมควรก่อนส่งให้สนช. พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย


สาระสำคัญคือ เมื่อประกาศใช้แล้วยังไม่มีผลบังคับให้เจ้าสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียน เพียงแต่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นบังคับให้เจ้าของสัตว์มาขึ้นทะเบียนสัตว์ของตน โดยให้งดเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ในระยะเวลา 3 ปีแรก จากนั้นอปท. จะเก็บหรือไม่เก็บค่าธรรมเนียมต่อก็ได้ แต่หากเรียกเก็บจะต้องเก็บไม่เกินประกาศที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯกำหนด ซึ่งประกาศของรัฐมนตรีจะพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ แต่ต้องไม่เกินตัวละ 170 บาท


ทั้งนี้เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะตกเป็นเงินรายได้ของท้องถิ่นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ได้แก่ ค่าไมโครชิป หรือ คิวอาร์โค้ด ตลอดจนเป็นค่าฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ท้องถิ่นจะนำไปใช้สร้างศูนย์พักพิงสัตว์จรจัด ค่าอาหารสัตว์จรจัด ค่าผ่าตัดทำหมันและค่าวัคซีน 


สำหรับสัตว์ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์ รวมทั้งในวัดและบ้านที่เก็บสัตว์จรจัดมาเลี้ยงไม่ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ต้องมาแจ้งขอเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมาย และกรมปศุสัตว์จะบริการฉีดวัคซีน ผ่าตัดทำหมัน และดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย


อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะลดปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญจากสัตว์จรจัด ลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ การถูกสัตว์ทำร้าย ส่วนสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนจะได้รับประโยชน์ คือ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือ เมื่อหายออกจากบ้านแล้วมีผู้พบจะได้นำส่งคืนเจ้าของได้ไม่เสี่ยงกับการต้องเป็นสัตว์จรจัด ถูกสัตว์อื่นทำร้าย หรือ ถูกรถชน ทั้งนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหาสัตว์จรจัด ซึ่งจะต้องมีการสร้างและการนำสัตว์จรจัดเข้าศูนย์พักพิงสัตว์จรจัด การผ่าตัดทำหมัน การป้องกันการทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ การสร้างจิตสำนึกและรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์


ผลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัด ประมาณ 350,000 ตัว และปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัด ประมาณ 820,000 ตัว ดังนั้นหากมีการเพิ่มประชากรสุนัขและแมวจรจัดในลักษณะทวีคูณเช่นนี้คาดว่า ในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัด ประมาณ 1.92 ล้านตัว และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมากถึง 5 ล้านตัว ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ทั้งด้านสุขอนามัย โรคระบาด และเป็นภาระเงินงบประมาณของรัฐบาลอย่างสูง โดยเฉพาะปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าทำให้ประเทศไทยต้องใช้จ่ายเงินปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท


โดยใช้เป็นค่าวัคซีนสำหรับ คนที่สัมผัสโรคปีละ 400,000 ชุด เป็นเงิน 480 ล้านบาท ค่าวัคซีนสำหรับสัตว์ปีละ 8 ล้านโด๊ส เป็นเงิน 120 ล้านบาท ค่าผ่าตัดทำหมันสัตว์จรจัดปีละ 300,000 ตัว เป็นเงิน 400 ล้านบาท ดังนั้นถ้าหากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้คาดว่าในปี พ.ศ. 2580 จะมีสุนัขจรจัดมากสูงขึ้นอีกประมาณ 6.1 เท่า ต้องใช้งบประมาณแก้ปัญหาสัตว์จรจัดปีละกว่า 30,000 ล้านบาท


 “ขอให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว พร้อมเหตุผลประกอบ ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดจะบันทึกสำหรับอ้างอิงในการจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟัง ก่อนนำเสนอให้สนช. พิจารณา โดยจะต้องมีการพิจารณาถึง 3 วาระ ก่อนจะประกาศเป็นกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code